บทที่ 10

ตัวอย่างจากของจริง

เอาละครับ ถึงตอนนี้ เราก็รู้วิธีการคำนวณหาเป้าหมายของราคาในกรณีต่างๆกันแล้ว ลองมาทำตัวอย่างจากของจริงดูดีกว่าครับ ในที่นี้เราจะใช้ตัวอย่างของหุ้น BBL ครับ ที่เลือก BBL นี่ไม่ใช่เพราะพิศวาสหุ้นตัวนี้เป็นพิเศษหรอกครับ เพียงแต่เห็นว่าเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องดี มีการซื้อขายมาก ดังนั้น น่าจะใช้เป็นตัวอย่างในการศึกษาได้

ดูจากตัวอย่างที่ 10.1 นะครับ ซึ่งเราแสดงโดยใช้กราฟแบบแท่งเทียน (ซึ่งจะได้กล่าวในบทที่ 14 ต่อไปครับ) แนวโน้มหลักของ BBL ในรูปนี้ เป็นขาขึ้น หุ้น BBL ปรับฐานครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 38 โดยมีจุดต่ำสุดอยู่ที่ ราคา 208 บาท (จุด A) จากนั้น ก็ขยับตัวสูงขึ้นตามแนวโน้มหลัก ขึ้นไปถึงจุด B ในวันที่ 25 ธ.ค. 38 โดยราคาขยับไปสูงสุดที่ 222 บาทก่อนที่จะปรับฐานลงมา ที่นี้ เราก็อยากจะรู้ใช่ไหมครับว่า หุ้นตัวนี้น่าจะปรับฐานถึงที่ระดับราคาเท่าไหร่ ง่ายมากครับ เพราะเราเรียนกันมาแล้ว กรณีนี้เป็นการปรับฐาน โดยช่วงราคาระหว่าง A กับ B เท่ากับ 222 - 208 = 14 บาท ดังนั้น เราจึงคำนวณ FibNodes ทั้งสองอัน ได้ FibNode 1 = 222 - 14 x 0.382 = 219 บาท และ FibNode 2 = 222 - 14 x 0.618 = 213 บาท (ดูวิธีการคำนวณในกรอบสี่เหลี่ยมเล็กตรงมุมขวาของตัวอย่างที่ 10.1 ด้วยครับ)

ถ้าดูจากกราฟในตัวอย่างที่ 10.1 เราจะเห็นว่า FibNode 1 นั้น ถูกทดสอบไปตั้งแต่วันแรกที่จุด B แล้ว และในวันถัดไปราคาก็เปิดอยู่แถวระดับนี้ และปิดที่ระดับต่ำกว่า FibNode 1 ไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น เป้าที่เราจะต้องรอรับซื้อ ก็คงจะเป็นที่ระดับ FibNode 2 คือ ที่ระดับราคาประมาณ 213 บาทครับ เมื่อได้เป้าราคาที่เรารอคอยแล้ว เราก็คอยดูครับว่าเมื่อไหร่ราคาจะตกลงมาถึงเป้าที่เราวางไว้จะได้เข้าไปรับซื้อได้

แล้วก็ไม่นานเกินรอเลยครับ หลังจากนั้นเพียงแค่ 2 วัน คือในวันที่ 28 ธ.ค. 38 ราคาก็ร่วงลงไป โดยราคาต่ำสุดของวัน ต่ำกว่าระดับ FibNode 2 เสียด้วยซ้ำ แต่ก็ดีดตัวมาปิดอยู่เหนือ FibNode 2 ได้อย่างงดงาม ในวันนี้แหละครับ เป็นวันที่น่าช้อนซื้อ เพราะราคาลงมาถึงเป้าหมายที่เราวางไว้แล้ว อันที่จริงต่ำกว่าเป้าที่เราวางไว้อีก แถมยังมีการดีดตัวขึ้นมาอยู่เหนือเป้าที่เราวางไว้ด้วย แสดงว่า เป้านี้ค่อนข้างแข็งพอใช้ได้ครับ และต่อให้เราพลาด ซื้อในวันนี้ไม่ทัน วันรุ่งขึ้นราคาก็เปิดที่ระดับต่ำกว่า FibNode 2 เล็กน้อยครับ ยังมีโอกาสให้เราเข้าไปซื้อได้อีกวันนึงครับ

จะเห็นว่าราคาทำจุดต่ำสุดของการปรับฐานเรียบร้อยแล้วที่จุด C โดยมีราคาต่ำสุดที่ 210 บาท (ดูตัวอย่างที่ 10.2 ประกอบด้วยครับ) สมมติว่าเราสามารถช้อนซื้อหุ้น BBL ได้ตามเป้าของเราคือที่ FibNode 2 = 213 บาท เรียบร้อยแล้ว ปัญหาต่อไปก็คือ แล้วจะรอขายที่ราคาเท่าไหร่ดี ในกรณีนี้เป็นการต่อตัว (Extension) แล้วนะครับ เพราะราคามันดีดตัวขึ้นไปตามแนวโน้มหลัก หลังจากที่ปรับฐานมาเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น เราจะต้องคำนวณ เป้าสั้น (COP), เป้าปกติ (OP) และ เป้าขยายตัว (XOP) ดังแสดงไว้ไนวิธีการคำนวณในรูปที่ 10.9 ครับ เราจะได้ COP = 210 + 14 x 0.618 = 219 บาท เป็นเป้าหมายแรก ได้ OP = 210 +14 = 224 บาท เป็นเป้าหมายที่สอง และได้ XOP = 210 + 14 x 1.618 = 233 บาท เป็นเป้าหมายที่สามครับ

การที่จะตั้งเป้าหมายราคาว่าควรจะอยู่ที่ COP, OP และ XOP นั้น ก็ต้องดูภาวะตลาดด้วยครับ ว่าตลาดแรงหรือไม่แรงแค่ไหน ตอนนี้ เราได้ตัวเลขทั้งสามไว้ในใจแล้ว เราก็คอยรู้มั้ย...อร่อยตลาดต่อไปครับ ไล่กันไปทีละวันเลยนะครับ ดังแสดงในตัวอย่างที่ 10.3 ครับ จะเห็นว่าหลังจากจุด C ไปแล้ว วันที่สอง ราคาขยับตัวสูงขึ้นแรงมาก สร้าง Gap กับราคาในวันก่อน กล่าวคือ เปิดที่ระดับสูงกว่าราคาสูงสุดของเมื่อวันก่อน และราคาเปิดก็เป็นราคาต่ำสุดของวันด้วย (หมายความว่าพอเปิดตลาดก็วิ่งตลอด) ในกรณีนี้ เชื่อว่าตลาดจะค่อนข้างแรง ดังนั้น เราจะไม่ค่อยให้น้ำหนักกับ COP ซึ่งเป็นเป้าสั้นมากเท่าไหร่นัก ตอนนี้เราก็เหลือแค่ 2 เป้าแล้ว คือ OP กับ XOP อยู่ที่ว่าจะเอาจุดไหนดี

วันต่อมาราคาสร้าง Gap อีกครั้งหนึ่ง โดยเปิดที่ราคาสูงกว่าราคาสูงสุดเมื่อวาน และวิ่งฉิวทะลุเป้า OP ของเราไปอย่างงดงาม อันที่จริงมันวิ่งทะลุ XOP ไปด้วยซ้ำ ซึ่งจะเห็นว่า วันนี้เป็นวันที่น่าขายมาก เพราะราคาวิ่งปรู๊ดไปถึงระดับ XOP ก่อนที่จะลงมาปิดที่ราคาใกล้เคียงกับราคาเปิด แต่ถ้าขายวันนี้ไม่ทันก็ไม่เป็นไรครับ ราคายังขยับขึ้นไปให้ขายที่ระดับ XOP ได้อีกหลายวันทีเดียว ซึ่งถ้าเราขายได้ที่ระดับ XOP คือ 233 บาท เราก็จะได้กำไรเท่ากับ 233 - 213 = 20 บาทต่อหุ้น หรือประมาณเกือบๆ 10% ภายในเวลาไม่กี่วันครับ

.ข้อควรระวังการใช้ Fibonacci Retracement และ Extension.

ในการคำนวณเป้าราคาต่างๆในที่นี้ เรามีข้อสมมติที่สำคัญอยู่อันหนึ่งว่า แนวโน้มหลักที่เป็นอยู่จะไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ถ้าแนวโน้มหลักเป็นขาขึ้น เราก็คาดว่าจะขึ้นต่อไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ก็จะต้องมีกรณีของการเปลี่ยนแนวโน้ม (Reversal) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะคงไม่มีหุ้นตัวไหนที่ราคาขึ้นแล้วไม่มีวันตกเลย ซึ่งถ้าเราคำนวณเป้าราคาตั้งรับในตอนปรับฐาน แล้วเข้าไปรับซื้อไว้ แต่ปรากฏว่าราคากลับไม่ดีดตัวขึ้น แต่กลับตกลงไปอีก เราจะต้องตรวจสอบทันทีว่า ราคาที่ตกลงไปอีกนี้ มันได้เปลี่ยนทิศทางของแนวโน้มหลักหรือยัง (การวัดการเปลี่ยนแนวโน้ม อาจจะวัดได้จาก เครื่องมือทางเทคนิคที่เป็น Trend Reversal เช่น เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ หรือ รูปแบบประเภท Head and Shoulders, Double และ Triple Top เป็นต้น) ถ้าพบว่าแนวโน้มหลักได้เปลี่ยนไปแล้ว เราจะต้องยอมตัดขาดทุนทันที อย่ารีรอเป็นอันขาด เมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นดังคาด เราจะต้องกล้าหาญพอที่จะยอมรับว่าเราผิดพลาดไปแล้ว และรีบแก้ไขปัญหาทันที อันนี้เราเรียกว่าเป็นการหยุดขาดทุน (Stop Loss) ซึ่งถือเป็นหัวใจของการเล่นหุ้นโดยใช้เทคนิคัลเลยครับ เพราะไม่มีเครื่องมือไหนที่จะวิเศษขนาดไม่มีวันพลาด ดังนั้น เราจะต้องมีตัวคอยวัดตลอดเวลาว่าเครื่องมือเราพลาดหรือไม่ และถ้าพลาดก็ต้องยอมรับ และตัดสินใจหยุดการขาดทุนแต่เนิ่นๆครับ ถ้าทำได้เช่นนี้ เครื่องมือเหล่านี้ก็จะมีประโยชน์ในการตัดสินใจการลงทุนมากทีเดียว

เนื้อหาต่อไป : บทที่ 11 ทฤษฎีคลื่นของอีเลียต Elliott Wave Theory

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : การวัดเป้าหมายการต่อตัว (Fibonacci Extension)