บทที่ 8
ลักษณะทั่วไปของอุปสงค์และอุปทานของหุ้น
โดยทั่วไป หุ้นทั้งหมดของบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะไม่ได้มีการซื้อขายในตลาดทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องจากจะมีผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าของกิจการอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งจะถือหุ้นเอาไว้ส่วนหนึ่งและไม่นำออกมาขายทั้งนี้เพื่อดำรงไว้ซึ่งความเป็นเจ้าของ และสามารถควบคุมการบริหารงานในบริษัทได้ ดังนั้น ในภาวะปกติ อุปทานของหุ้นจะค่อนข้างมีความยืดหยุ่นน้อย
ปริมาณหุ้นที่ซื้อขายกันจริง ๆ ในตลาดคือ ส่วนที่เรียกว่า Free-Floating การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นส่วนใหญ่ จึงเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านอุปสงค์และอุปทานในส่วนนี้ และเนื่องจากความต้องการหรืออุปสงค์ของหุ้นนั้น สามารถมีได้เป็นจำนวนมาก ถ้าหากบริษัทนั้นมีกิจการที่ดี แต่อุปทานมักจะถูกจำกัดอยู่ที่จำนวน Free-Floating (ถ้าเจ้าของไม่เอาหุ้นเก่าที่เก็บไว้ออกมาขาย) ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของราคาและปริมาณการซื้อขายของตลาด จึงมักจะถูกกำหนดมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านอุปสงค์ มากกว่าอุปทาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มาจากทางด้านอุปสงค์นี้ จะทำให้ราคาและปริมาณการซื้อขายเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่เจ้าของกิจการจะขายหุ้นในส่วนของตัวเองออกมาบ้าง ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับตัวเอง หรืออาจจะเป็นการแทรกแซงตลาด เมื่อเห็นว่าราคาหุ้นตัวเองสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจจะเป็นผลเสียแก่ผู้ลงทุน ถ้าหากเข้ามาซื้อที่ราคาสูงเกินความจริงนี้ ในกรณีนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในอุปทานเกิดขึ้นได้การเปลี่ยนแปลงของราคาและปริมาณที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านอุปทาน จะทำให้ราคาเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้ามกับปริมาณ อย่างไรก็ดี ถ้าผู้บริหารยังอยากจะดำรงไว้ซึ่งอำนาจในการบริหารก็จะต้องซื้อหุ้นเหล่านั้นกลับในที่สุด
อีกส่วนหนึ่งที่อาจเป็นสาเหตุทำให้อุปทานของหุ้นดูเหมือนกับสูงขึ้นได้ นั่นคือจำนวนรอบที่หุ้นหมุนอยู่ในตลาด เช่นบางวันหุ้นใบเดียวจากหมุนได้เกินกว่าหนึ่งรอบ เช่น นาย ก. ซื้อแล้วอีกสักพักได้กำไร ก็ขาย นาย ข. ก็มาซื้อต่อ (แล้วนาย ข. ก็อาจจะทำแบบเดียวกัน โดยขายให้นาย ค.) อย่างไรก็ดี การที่อุปทานของหุ้นสูงด้วยวิธีนี้มากๆ ไม่ใช่ว่าจะเป็นลักษณะที่ดี อันที่จริงแล้วมันแสดงให้เห็นว่าตลาดอยู่ในช่วงของการเก็งกำไรกันสุดเหวี่ยง ถ้าเราไม่เร็วพอ ก็อันตรายทีเดียว