บทที่ 6

เส้นคู่ขนานของค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ Moving Average Band or Channel

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าเส้นค่าเฉลี่ยที่ ที่ใช้จำนวนวันในการคำนวณสั้นๆ อาจจะส่งสัญญาณหลอกได้ เนื่องจากมันเคลื่อนไหวเร็วเกินไป ดังนั้นนักวิเคราะห์ทางเทคนิคบางคน นิยมแก้ปัญหาด้วยการเคลื่อนย้าย (Shift) เส้นเฉลี่ยเคลื่อนที่เพื่อเป็นการกรองสัญญาณหลอก ในกรณีของสัญญาณซื้อจะ Shift เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ขึ้นไป โดยทั่วไปการ Shift จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ และในกรณีสัญญาณขายจะ Shift เส้นเฉลี่ยเคลื่อนที่ลงมา การ Shift เพื่อกรองสัญญาณหลอกนี้ มักจะใช้กับค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ที่ใช้จำนวนวันในการคำนวณสั้นๆ

อีกกรณีหนึ่งของการ Shift เส้นเฉลี่ยเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กัน และมีความสำคัญมากกว่า ก็คือเพื่อสร้างกรอบการเคลื่อนไหวของราคา (Envelope) แม้ว่าในทางปฏิบัติ จะเรียกกันด้วยชื่อทั่วๆไป เช่น Channel หรือ Band ของเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ การสร้าง Envelope นี้ ก็เพื่อใช้เป็นแนวรับ และแนวต้านในระยะสั้น โดยราคาจะเคลื่อนไหวอยู่ใน Channel หรือ Band นี้ ตราบใดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแนวโน้ม ส่วนว่าแนวโน้มจะเปลี่ยนหรือยังนี่ เราใช้ตัว Moving Average เป็นตัวบอกสัญญาณซื้อขายตามแนวโน้มหลัก และใช้ Channel หรือ Band เป็นตัวบอกสัญญาณซื้อขายตามแนวโน้มรอง (ซึ่งก็จะเคลื่อนไหวตามแนวโน้มหลักอีกทีนึง)

เส้นบนของ Band (Upper Channel) จะทำหน้าที่เป็นแนวต้าน กล่าวคือ เมื่อราคาวิ่งเข้าใกล้ Upper Band จะเป็นสัญญาณเตือนว่า ราคาได้ขึ้นมาสูงมากแล้ว น่าจะทยอยของออกมาได้บ้าง ถ้าเล่นในระยะสั้น (ส่วนระยะยาว ก็ต้องว่ากันตามแนวโน้มหลัก โดยใช้ Moving Averages ธรรมดา) ในทางกลับกัน เส้นล่างของ Band (Lower Channel) จะทำหน้าที่เป็นแนวรับ หมายความว่า ถ้าราคาตกลงมาใกล้กับ Lower Band ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า ราคาลงมาเยอะเหมือนกันแล้วในระยะสั้น อาจจะเตรียมตัวรอรับไว้ได้บ้าง

ในทางปฏิบัติ เราควรจะต้องทำความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง การ Shift เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เพื่อกรองสัญญาณหลอก กับการ Shift ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เพื่อสร้าง Envelope ไว้บอกแนวรับแนวต้าน และจะต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ จุดประสงค์ของการ Shift ของเราคืออะไร

สำหรับการสร้าง Moving Averages Channel หรือ Band นั้น มีหลานวิธีด้วยกันคือ

1. สร้างจากเส้นเฉลี่ยเคลื่อนที่ซึ่งคำนวณจากราคาสูงสุด เป็น Upper Channel และเส้นเฉลี่ยเคลื่อนที่ ซึ่งคำนวณจากราคาต่ำสุดเป็น Lower Channel เราเรียก Band แบบนี้ว่า High-Low Channel ซึ่งค่านิยมที่ใช้กันคือค่าเฉลี่ย 10 วันของราคาสูงสุด และค่าเฉลี่ย 8 วันของราคาต่ำสุด วิธีนี้นิยมใช้เพื่อการกรองสัญญาณหลอก มากกว่าจะใช้เพื่อสร้าง Envelope แต่สามารถดัดแปลงใช้เป็น Envelope ได้ด้วย ถ้ากำหนด parameters ที่เหมาะสม

2. Shift เป็นเปอร์เซ็นต์ วิธีนี้ Shift เส้นเฉลี่ยเคลื่อนที่ขึ้น (เป็น Upper Channel) และลง (เป็น Lower Channel) คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ซึ่งคำนวณจากราคาปิด จำนวนของเปอร์เซ็นต์ที่ Shift ที่เป็นที่นิยมใช้กันคือ 3.5-4% สำหรับ Moving Averages ขนาด 20-25 วัน วิธีนี้ก็เป็นวิธีการเพื่อกรองสัญญาณหลอก มากกว่าการสร้าง Envelope เช่นกัน การ Shift เป็นเปอร์เซ็นต์นี้ มีข้อเสียตรงที่ ขนาดของการ Shift เมื่อวัดเป็น absolute term จะเล็กเมื่อราคาอยู่ในระดับต่ำ แต่ขนาดการ Shift จะค่อนข้างใหญ่ เมื่อราคาอยู่ในระดับสูง ดังนั้นขนาดของ Band จะกว้างขึ้นเรื่อยๆ เมื่อราคาขึ้นและขนาดของ Band จะค่อยๆหดตัวลงเมื่อราคาตก และเราอาจจะซื้อเร็วเกินไป (เพราะราคาต่ำและการ Shift น้อย) แต่อาจจะขายช้าเกินไป (เพราะราคาสูงและการ Shift มาก)

3. การ Shift เพื่อสร้าง Envelope จริงๆนั้น เริ่มต้นจากการศึกษาของ John Hurst ซึ่งในสมัยนั้น เครื่องคอมพิวเตอร์ยังมีขนาดค่อนข้างใหญ่ และเครื่อง PC ยังไม่เกร่อตลาดเหมือนสมัยนี้ Hurst เสนอให้สร้าง Envelope ด้วยมือ โดยเขียนให้มีการเคลื่อนสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (ซึ่งมีจำนวนวัน ที่กำหนดจากความยาวของวัฏจักร ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในบทของวัฏจักร) โดยที่ Envelope นี้ จะต้องสามารถครอบคลุมการเคลื่อนไหวของราคาในรอบวัฏจักรที่สั้นกว่าได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างจะ subjective เนื่องจากคนสองคนอาจจะวาดได้ไม่เหมือนกัน

Marc Chaikin นักวิเคราะห์ทางเทคนิคชื่อดังของบริษัท Bornar Securities เสนอว่า การ Shift เส้นเฉลี่ยเคลื่อนที่ เป็นเปอร์เซ็นต์ตายตัวนั้น อาจจะไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ เพราะในเวลาหนึ่ง 3% อาจจะมากไป (เช่นกรณีที่หุ้นค่อนข้างจะวิ่ง sideway ไม่ค่อยกระโดกกระเดกไปไหน Band ก็จะกว้างเกินไป) แต่บางกรณีเช่นเมื่อหุ้นวิ่งตามแนวโน้มที่ชันมากๆ 3% ก็จะแคบเกินไป (หุ้นวิ่งทะลุ Band กันระเนระนาด) ในขณะเดียวกันการสร้าง envelope ในแบบของ Hurst ก็ค่อนข้างจะขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละคน ซึ่งไม่แน่นอน ดังนั้น ควรให้ตลาดช่วยเป็นตัวกำหนดด้วยว่า ณ เวลาหนึ่งเวลาใด ควรจะ Shift สักกี่เปอร์เซ็นต์

แนวความคิดนี้ เป็นที่มาของระบบที่เรียกว่า Bornar Band ซึ่ง Chaikin แนะนำว่า เปอร์เซ็นต์ที่จะ Shift ณ เวลาใดๆ ควรจะสามารถครอบคลุมราคาในอดีตที่ผ่านมาได้ไม่น้อยกว่า 85% ตัวอย่างเช่น ถ้าเราใช้ Moving Averages 25 วัน เปอร์เซ็นต์ที่เราจะใช้ Shift ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ในวันนี้ ควรจะใหญ่พอที่จะครอบคลุมราคาในรอบ 25 วันที่ผ่านมาได้ 85% วิธีนี้จะทำให้ Band ที่สร้างขึ้นมา มีเปอร์เซ็นต์ที่ Shift น้อยเมื่อตลาดวิ่ง sideway แต่จะปรับตัวเองให้ใช้ค่าเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้น เมื่อราคาวิ่งตามแนวโน้ม นอกจากนี้ ตัว Bornar Band จะช่วยชี้ถึงความเฉื่อยของแนวโน้มได้ด้วย เนื่องจากระบบนี้จะปรับเปอร์เซ็นต์ Shift ให้น้อยลง เมื่อราคาเริ่มเฉื่อย ดังนั้น เมื่อตลาดเริ่มหมดแรง แม้ว่าราคาจะยังคงลดลงอยู่ แต่ Bornar Band ก็จะแคบลง ในทางตรงกันข้าม ในกรณีที่ตลาดวิ่งตามแนวโน้ม Bornar Band จะกว้าง ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เป็นตัวส่งสัญญาณเตือนของแนวโน้มหลักได้

John Bollinger ได้พัฒนาแนวความคิดนี้ออกไปอีก โดยการ Shift เส้นเฉลี่ยเคลื่อนที่เป็นสัดส่วนของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ของราคา โดยทั่วไปจะคิดเป็น ±1.96 (หรือ ±2) เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานที่คำนวณได้จากจำนวนวันที่ใช้ในการคำนวณค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว Band ที่ได้ น่าจะครอบคลุมราคาในอดีตได้ถึง 90% ถ้าราคามีการกระจายแบบปกติ (Normal Distribution) เราเรียก Band ที่คำนวณจากวิธีนี้ตามชื่อคนคิดว่า Bollinger Band

Bollinger Band มีคุณสมบัติเช่นเดียวกันกับ Bornar Band กล่าวคือสามารถปรับความกว้างและแคบของ Band ได้ตามภาวะตลาด ซึ่งความกว้างและแคบของ Band นี้ก็จะช่วยบอกถึงความเฉื่อยของแนวโน้มได้ เช่นเดียวกัน ส่วนที่แตกต่างจาก Bornar Band ก็คือ Bollinger Band ใช้ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ซึ่งเป็นตัวชี้ถึงความแปรปรวน (Volatility) ของราคา ซึ่งคำนวณได้ง่ายกว่า Bornar Band เพราะสูตรการคำนวณเบี่ยงเบนมาตรฐานนั้นตายตัว

และแล้วก็มาดูตัวอย่างกัน ตัวอย่างที่ 6.4 เป็นการใช้ Bollinger Band กับราคาหุ้น DS จะเห็นได้ว่า ที่บริเวณเลข 1, 3, 6 และ 9 เป็นสัญญาณเตือนว่า ราคาหุ้นนั้นค่อนข้างสูง หรือสูงเกินไปแล้ว จึงอาจจะเกิดการระบายหุ้น หรือทำกำไรระยะสั้นออกมาได้ ในขณะที่บริเวณ 2, 4 , 5, 7 และ 8 เป็นสัญญาณเตือนถึงราคาหุ้นนั้นค่อนข้างต่ำ หรือต่ำเกินไปแล้ว จึงอาจจะมีการเข้ามาซื้อ หรือเก็บของเพิ่มได้

เนื้อหาต่อไป : การเคลื่อนย้ายค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ตามแนวนอน Displaced Moving Average

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : กลยุทธ์ / แนวรับ แนวต้าน