บทที่ 2

แนวรับและแนวต้าน Support and Resistance

หลังจากที่พิจารณารูปแบบการเคลื่อนไหว และช่วงเวลาแล้ว สิ่งที่ผู้อ่านคงอยากจะทราบต่อไป น่าจะเป็นเรื่องของแนวรับ (support ) แนวต้าน (resistance) ซึ่งสร้างความสับสนให้นักลงทุนใหม่หลายท่านจากที่เคยพูดคุยกันมา ซึ่งหลักการของผู้เขียนก็มีอย่างง่ายๆ ที่จะช่วยในการจดจำเพื่อนำไปใช้ในทางปฏิบัติ หลักที่ว่าก็คือ

“แนวรับไว้ไม่ให้ตก แนวต้านต้านไว้ไม่ให้ขึ้น

ต้านกลายเป็นรับ รับกลายเป็นต้าน”

ฟังดูเหมือนเคล็ดวิชากำลังภายใน แต่อย่าเพิ่งร้องว่าไม่รู้เรื่อง เพราะกำลังจะอธิบายให้ฟัง ดังนี้

แนวรับรับไว้ไม่ให้ตก หมายถึง บ่อยครั้งที่ราคาหุ้นได้อ่อนตัวมาถึง ณ ระดับนี้ทีไร ก็มีแรงซื้อเข้ามาผลักดันราคาให้ราคาหุ้นมีการดีดตัวกลับขึ้นไปทุกที หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ในอดีตที่ผ่านมา มีความต้องการซื้อเกิดขึ้นเมื่อราคามาถึง ระดับ นี้

แนวต้านต้านไว้ไม่ให้ขึ้น หมายถึง บ่อยครั้งที่ราคาหุ้นได้ขึ้นมาถึง ณ ระดับนี้ทีไร ก็มีแรงเทขายออกมากดให้ราคมหุ้นมีการอ่อนตัวลงไปทุกที หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ในอดีตที่ผ่านมามีความต้องการขายเกิดขึ้นมา ณ ระดับราคานี้

ต้านกลายเป็นรับ ก่อนที่จะอธิบาย อยากจะให้ผู้อ่านจินตนาการ ว่าการที่ราคาสามารถทะลุแนวต้านขึ้นมาได้ นั่นแสดงให้เห็นว่า จะต้องเกิดแรงซื้อมากขึ้นอย่างเพียงพอจนสามารถเอาชนะแรงขาย และผลักดันให้ราคามีการขยับตัวขึ้นไป แต่พอระยะเวลาผ่านไป การเคลื่อนตัวของราคาอาจจะเริ่มอ่อนตัวลง จนทำให้ราคาเกิดการปรับตัวลงมาทดสอบระดับที่เคยเป็นแนวต้านเดิมที่เพิ่งผ่านมา กรณีนี้แนวต้านนั้นจะทำตัวกลายเป็นแนวรับด้วยเหตุผลที่ว่า การที่ทะลุขึ้นไปครั้งก่อนนั้นมีความต้องการซื้อสูงมากตรงบริเวณแนวต้าน จนสามารถเอาชนะแรงขายได้ในที่สุด ดังนั้นจึงเป็นการคาดหวังกันว่า แรงซื้อนั้นน่าที่จะกลับเข้ามา ณ ระดับราคานี้อีก เพราะเป็นระดับราคาที่เคยถูกสนใจในอดีตจากแรงซื้อกลุ่มนี้ นอกจากนี้ยังเป็นเหมือนราคาต้นทุนของการซื้อครั้งแรก ๆ เมื่อตอนที่ตลาดเปลี่ยนแนวโน้ม (การซื้อครั้งต่อ ๆมา ของคนที่เข้ามาแห่ตามหลังตลาดเปลี่ยนแนวโน้ม จะสูงกว่าระดับนี้อีก )ดังนั้น การคาดหวังคือ ราคาหุ้นน่าจะมีการดีดตัวขึ้นจากระดับแนวต้านที่กลายเป็นแนวรับในขณะนี้

รับกลายเป็นต้าน ผู้อ่านลองจินตนาการ ว่าการที่ราคาสามารถทะลุแนวรับลงมาได้ นั่นหมายถึง จะต้องเกิดแรงขายมากขึ้นอย่างเพียงพอจนสามารถเอาชนะแรงซื้อ จึงกดดันให้ราคามีการอ่อนตัวลงไป เมื่อระยะเวลาผ่านไปหลังจากการอ่อนตัวลงของราคา ราคาเริ่มที่จะมีการวกตัวขึ้น และมีการไต่ระดับขึ้นมา ณ แนวรับเดิมที่เพิ่งจะผ่านมา กรณีนี้แนวรับจะกลายเป็นแนวต้าน ด้วยเหตุผลที่ว่า การทะลุลงมาในครั้งก่อนนั้น มีความต้องการขายสูงมากตรงแนวรับจนชนะแรงซื้อ ดังนั้น จึงเป็นการคาดหวังกันว่าแรงขายนั้นน่าที่จะกลับเข้ามาถล่ม ณ ระดับราคานี้อีก เพราะเป็นระดับราคาที่เคยถูกสนใจในอดีตจากแรงขายกลุ่มนี้ การคาดหวังคือ การปรับตัวลงจากระดับแนวรับที่กลายเป็นแนวต้านในขณะนี้ ลองดูรูปที่ 2.15 น่าจะทำให้เห็น ภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

.ส่งท้าย.

พอจะมึนๆ กันบ้างหรือยังครับ ถึงจุดนี้ ผู้อ่านคงจะพอเข้าใจถึงวิธีการสร้าง chart ความหมายของแท่ง Bar ใน Chart ตลอดจนแนวความคิดเบื้องต้น ของการวิเคราะห์ทางเทคนิค ไม่ว่าจะเป็น แนวโน้ม แนวรับ แนวต้าน การเปลี่ยนแนวโน้มได้ดีพอสมควรแล้วนะครับ หลักการในบทนี้ค่อนข้างจะเป็นหลักการพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นการปูทางผู้อ่านให้เข้าใจรูปแบบ( patterns) ต่างๆ ของการเคลื่อนไหวของราคาใน Chart ซึ่งจะเป็นการช่วยชี้แนวทางของราคาในอนาคตได้ ซึ่งจะเป็นหัวข้อที่เราพูดกันต่อไปโดยรูปแบบการเคลื่อนไหวของราคานี้ เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ รูปแบบในการเปลี่ยนแนวโน้ม ชื่อฝรั่งๆ หน่อยก็คือ reversal patterns ซึ่งเป็นหัวข้อที่เราพูดกันในบทที่ 3 และรูปแบบในการพักตัวเพื่อที่จะเคลื่อนตัวต่อไป continuation patterns ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะคุยกันในบทที่ 4

เนื้อหาต่อไป : บทที่ 3 รูปแบบการเปลี่ยนแนวโน้ม Reversal Patterns

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : ช่วงเวลา