บทที่ 16

รูปแบบต่อเนื่องในการวิเคราะห์แท่งเทียน Candlestick Continuous Patterns

รูปแบบต่อเนื่อง ในทางด้านการวิเคราะห์แผนภูมิแบบแท่งเทียน ส่วนใหญ่จะอ้างอิงกับ Gap ซึ่งหวังว่าผู้อ่านคงจะยังพอจำได้นะครับว่า Gap คืออะไรแต่แทนที่จะเรียกว่า Gap ในภาษาด้านกราฟแท่งเทียน เค้าเรียกมันว่า หน้าต่าง (Window) เราเรียนกันมาในบทต้นๆ แล้วว่า Gap จะหมดความสำคัญต่อเมื่อมันถูกปิด ตัวอย่างเช่น ถ้าเกิด Breakaway Gap ขึ้นเมื่อตอนแนวโน้มกำลังขึ้น Gap ตัวนี้จะทำหน้าที่เป็นเหมือนกับ Support ของราคา ซึ่งจะเป็นไปจนกว่าราคามันจะตกลงมาต่ำกว่า (และปิด)Gap ตัว Gap นี้ก็จะหมดความสำคัญในฐานะที่เป็น Support ไป (แต่มันจะกลายเป็น Resistance แทน) ในด้านกราฟของแท่งเทียนก็คล้ายกันครับ เพียงแต่แทนที่จะเรียกว่าปิด Gap เราก็เรียกว่าปิดหน้าต่างแทน

เป็นที่พูดกันในหมู่นักวิเคราะห์แผนภูมิแบบแท่งเทียนของญี่ปุ่นว่า ให้วิ่งตามหน้าต่าง (ซึ่งต่างจากคนไทยที่เจ้าตามตรอกออกตามประตู) ซึ่งตีความหมายได้ว่า ในทางวิเคราะห์แบบแท่งเทียนนั้น ถือว่า หน้าต่าง (หรือ Gap) เป็น Continuous Pattern ซึ่งก็ใกล้เคียงกับการวิเคราะห์ทางค่ายตะวันตก ต่างกันเพียงแต่ว่า ในกรณีของการวิเคราะห์ทางเทคนิคของค่ายตะวันตกนั้น Gap อาจจะเป็น reversal ก็ได้ เช่น Exhaustion Gap เป็นต้น

Gap จะมีความสำคัญมากขึ้น ถ้าหากเกิดที่ระดับซึ่งเคยเป็นจุดต่ำสุดหรือจุดสูงสุดเก่า เพราะนอกจากตัว Gap เองจะเป็นแนวต้านและแนวรับอย่างที่ได้พูดถึงไปแล้ว แนวต้านและแนวรับนี้ยังจะได้รับอิทธิพลหนุนจากยอดหรือก้นบึ้งเดิมอีกด้วย

.หน้าต่างทาซูกิ (Tasuki Gap).

อธิบายยากเหมือนกัน เอายังงี้ครับ ดูรูปที่ 16.1 ประกอบด้วยแล้วกัน โดยเริ่มจากกรณีที่ตลาดเป็น Uptrend ก่อนที่เรียกกันว่า Upward Gapping Tasuki มันเกิดขึ้นจากกการที่แท่งเทียนเมื่อวานนี้เป็นสีขาว แต่ราคาเปิดวันนี้ก็ขยับตัวห่างจากราคาปิดเมื่อวานนี้ ก่อให้เกิด Gap กับแท่งเทียนเมื่อวาน แล้ววันรุ่งขึ้นแท่งเทียนกลับเป็นสีดำซึ่งหมายถึงราคาปิดต่ำกว่าราคาเปิด และต่ำกว่าแท่งเทียนสีขาว แต่ไม่ต่ำพอที่จะปิด Gap ที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด ดูรูปประกอบแล้วกันครับ จะเข้าใจได้ดีกว่า

ในกรณีของ Downward Tasuki Gap ก็เหมือนกัน แต่กลับกันนิดนึง คือตลาดกำลังอยู่ในแนวโน้มลง ราคาวันนี้ดิ่งลงมากกว่าเมื่อวานนี้ (แท่งเทียนเป็นสีดำ)และก่อให้เกิด Gap พอวันรุ่งขึ้นราคาพยายามดีดตัวขึ้นและแท่งเทียนเป็นสีขาว แต่ไม่สามารถปิด Gap ได้

Tasuki Gap นี้ เป็นรูปแบบที่บอกว่า แนวโน้มยังคงใช้ได้อยู่ (Trend Continuation) มันเป็นเพียงแค่การปรับตัวเล็กๆ น้อยๆ หมายถึงว่า ถ้าตลาดกำลังขึ้น ตลาดน่าจะขึ้นต่อไปได้ แต่ถ้าตลาดกำลังลง ก็น่าจะลงต่อไปได้

สังเกตนะครับ ว่าในรูปแบบ Tasuki Gap นี้ เทียนแท่งที่สองสร้าง Gap กับเทียนแท่งแรก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี และเนื่องจากเทียนแท่งที่สาม ไม่สามารถทะลุลงมาถึงตัวเทียนของแท่งแรกได้ แสดงว่าไม่สามารถปิด Gap ได้สำเร็จ ดังนั้น แนวโน้มน่าจะวิ่ง(ขึ้นหรือลง) ต่อไปได้ แต่ก็ควรดูด้วยนะครับ ว่าราคาในวันต่อๆไปจะลงมาปิด Gap เมื่อไหร่ อย่าลืมนะครับว่า Gap จะเป็น Support หรือ Resistance ของราคาไปในตัว

.High-Price and Low-Price Gapping Plays.

โดยทั่วไป หลังจากที่ขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง ตลาดจะเริ่มพักตักเพื่อหาทิศทางที่แน่นอนต่อไปว่า จะเอายังไง (ขึ้นมาเยอะก็ชักหนาว แต่จะลงก็เสียฟอร์ม) ช่วงนี้จะเห็นว่าแท่งเทียนจะหดสั้น บางทีจะเห็น Doji บ้าง (แต่ต้องไม่ใช่รูปแบบดาว หรือ Star นะครับ เพราะมันจะเป็น Reversal Pattern ) ซึ่งแสดงว่าตอนนี้ตลาดกำลังหาข้อมูลกันอย่างขมักเขม้น ทีนี้ถ้าเกิด Gap ขึ้นมาในทิศทางเดียวกับแนวโน้มเดิม เช่น สมมติว่าตลาดที่ผ่านมามีแนวโน้มขึ้น แล้วหยุดพักตัวระยะหนึ่ง หลังจากนั้นก็เกิดแท่งเทียนสีขาว ซึ่งโดดขึ้นไปสร้าง Gap หนีไปจากช่วงของระยะพักตัว อันนี้เป็น Continuous Pattern ค่อนข้างแจ่มแจ้งควารจะซื้อได้ถ้ายังไม่มีของ เพราะแสดงว่าตลาดหาข้อมูลครบพร้อมแล้ว และตัดสินใจว่าควรจะขึ้นต่อไป(หายหนาวแล้ว) อันนี้เรียกว่าเป็นการเล่น Gap ในช่วงราคาสูง (High-Price Gapping Play ตามรูปที่ 16.2)

ในทางกลับกัน ถ้าแนวโน้มเดิมเป็นขาลง และหยุดพักตัวซักพัก จากนั้นเกิดแท่งเทียนสีดำซึ่งสร้าง Gap กับแท่งเทียนเก่าๆ ในช่วงระยะพักตัว แสดงว่าน่าจะต้องลงต่อ ถ้ายังไม่ขายก็ตัดใจเสียเถอะโยม ก่อนที่จะเจ็บตัวไปกว่านี้

เนื้อหาต่อไป : Gapping Side-By-Side White Lines

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : หอคอย (Tower Top and Tower Bottom)