บทที่ 15

หอคอย (Tower Top and Tower Bottom)

จากรูปที่ 15.10 จะเห็นได้ว่า Tower Top คือกรณีที่ตลาดซึ่งอยู่ในช่วง uptrend มีแท่งเทียนสีขาวค่อนข้างยาว (เหมือนหอคอย) โผล่ขึ้นมาอย่างน้อยหนึ่งแท่ง และหลังจากนั้นตลาดก็เริ่มอ่อนตัวในแง่ที่ว่า แม้มันจะยังคงขึ้นอยู่ แต่ก็ขยับตัวขึ้นในอัตราที่ถดถอยลง จนกระทั่งเกิดแท่งเทียนสีดำยาว (ยาวเป็นหอคอยเหมือนกัน) โผล่ขึ้นมาอย่างน้อย 1 แท่ง เป็นสัญญาณแสดงว่าหมดรอบแล้วจ้า ส่วน Tower Bottom ก็ตรงกันข้ามคือเป็นแนวโน้มลง มีแท่งดำยาวอย่างน้อยหนึ่งแท่ง และแนวโน้มเริ่มเฉื่อย จนกรทั่งเกิดแท่งยาวสีขาวโผล่ขึ้นมาอย่างน้อย 1 แท่ง เป็นสัญญาณว่าหมดรอบหมีแล้ว ถึงคราวกระทิงเล่นมั่ง

.อีกาสองตัว (Two Crows).

รูปแบบนี้คล้ายๆกับ Evening Star นะครับ คือวันแรกแท่งเทียนเป็นสีขาวค่อนข้างยาว (ยิ่งยาวยิ่งดีครับ) วันต่อมาตลาดเปิดสูงขึ้นไปอีก แต่อ่อนตัวลงมาเล็กน้อย (แท่งเที่ยนก็เลยเป็นสีดำ) โดยที่ระดับราคาปิด ยังคงสูงกว่าราคาปิดวันแรก ทำให้เกิด Gap ระหว่างเทียนแท่งแรกกับแท่งที่สอง ส่วนในวันที่สาม แท่งเทียนก็เป็นสีดำอีก เลยกลายเป็นอีกาสองตัว ซึ่งเป็นสัญญาณว่าแนวโน้มขึ้นนั้น กำลังจะเปลี่ยนทิศทางเป็นลงแล้วเป็น reversal pattern อีกแบบหนึ่งครับ (รูปที่ 15.11)

รูปแบบอีกาสองตัว ที่สมบูรณ์แบบจริงๆนั้น ราคาปิดวันที่สามจะต้องสูงกว่าราคาเปิดวันที่สอง และฉีกลงมาปิดที่ต่ำกว่าราคาปิดของวันแรก ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า แนวโน้มขึ้น (Bullish Trend) พ่ายท่าเสียทีอย่างหมดรูปแล้ว แต่นักวิเคราะห์ บางคนก็ไม่ซีเรียส กับเงื่อนไขปลีกย่อยนี้นัก

นอกจากนี้ เนื่องจากจะต้องมี Gap ระหว่างเทียนแท่งแรกกับแท่งที่สอง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้น บางคนก็เลยเรียกรูปแบบนี้แบบเต็มยศว่า Upside Gap Two Crows ครับ

.อีกาสามตัว (Three Black Crows).

เป็นแท่งสีดำ 3 แท่งที่ลดต่ำลงเป็นขั้นบันได (หมายความว่าเทียนแท่งที่สองต่ำกว่าแท่งแรก และแท่งที่สามต่ำกว่าแท่งที่สอง) โดยก่อนหน้านั้นแนวโน้มจะเป็นแนวโน้มขึ้นที่เห็นได้ชัด และเทียนแท่งก่อนหน้านั้นเป็นเทียนสีขาว อธิบายยากอีกแล้ว ดูรูป 15.12 เอาดีกว่านะครับ เงื่อนไขที่สำคัญมีดังนี้ครับ

1. ราคาเปิดควรจะอยู่ในช่วงเปิดปิดของแท่งก่อนหน้า เช่น ราคาเปิดของแท่งดำที่สอง ควรจะอยู่ในช่วงราคาเปิดปิดของแท่งดำแท่งแรก

2. ราคาปิดของแท่งดำแต่ละแท่ง ควรจะอยู่ใกล้ราคาต่ำสุดของวันนั้น

3. ตัวเทียนสีดำแท่งแรก ควรจะอยู่ต่ำกว่าจุดสูงสุดของแท่งขาวก่อนที่จะเกิดตัวเทียนสีดำแท่งแรก

รูปแบบนี้ บางทีเรียกกันว่า Three-Winged Crows คือ อีกามีปีก 3 ตัว เพราะว่าในความเชื่อของคนญี่ปุ่นนั้น ข่าวร้ายมักจะมีปีก (คือกระพือได้เร็ว) ดังนั้น รูปแบบนี้จึงเป็นรูปแบบที่เป็น Bearish ครับ

.รูปแบบ Trend Reversal อื่นๆ.

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ เป็นรูปแบบใหญ่ๆที่สำคัญๆเท่านั้น ยังมีรูปแบบปลีกย่อยอื่นๆอีกบางรูปแบบ แต่แนวความคิดต่างๆ ที่อธิบายรูปแบบเหล่านี้จะคล้ายๆกัน เช่น กรณีที่ราคาประกอบด้วย แท่งเทียนที่มีตัวเทียนเล็กๆแต่ไส้เทียนยาวๆ (หรือถ้าเป็น Doji ยิ่งดี) หลายๆอันติดต่อกันหลายวัน กรณีนี้จะเรียกว่า High Waves ซึ่งเป็น reversal pattern อีกแบบหนึ่ง ซึ่งแนวความคิดก็คือ ตลาดไม่รู้ทิศทางของราคาว่าจะขึ้นหรือลง (สังเกตได้จากแท่งเทียนที่สั้นมากๆ หรือเป็น Doji) ถ้าตลาดไม่รู้ทิศทางหลายๆวัน แสดงว่ากำลังเกิดการต่อสู้ระหว่างแรงซื้อกับแรงขาย ซึ่งถ้าแนวโน้มที่ผ่านมา ตลาดขึ้นหรือลงมาเยอะแล้ว ก็มีโอกาสที่แรงในทิศทางตรงกันข้ามจะชนะในที่สุด

ตรงนี้ อยากให้เข้าใจแนวความคิดของรูปแบบต่างๆเหล่านี้ครับ เพราะเมื่อเข้าใจมันแล้ว การทำความเข้าใจ หรือแม้แต่การจำรูปแบบต่างๆก็จะง่ายขึ้น ดูเป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้วิธีการท่องจำครับ นอกจากนี้ บางรูปแบบ ก็เหมือนกับการวิเคราะห์ทางเทคนิค ของทางค่ายตะวันตก ยังกับลอกกันมา เช่นที่แสดงไว้ในตารางข้างล่างนี้

Western Pattern

Candlestick Pattern

Triple Top

Triple Bottom

Head and Shoulders

Rounding Top

Rounding Bottom

Three mountain Top

Three River Bottom

Three Buddha

Dumpling Top

Fry Pan Bottom

ซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้พูดกันไปแล้วในภาคที่ 1 นอกจากนี้ เรายังสามารถนำเอาเทคนิคของการวิเคราะห์ของฝ่ายตะวันตก ที่เราได้เรียนกันมาในบทก่อนๆมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มความแม่นยำยิ่งขึ้นได้ครับ

เนื้อหาต่อไป : บทที่ 16 รูปแบบต่อเนื่องในการวิเคราะห์แท่งเทียน

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : Tweezer Top and Tweezer Bottom / เส้นตีโต้ (Counterattack Lines)