บทที่ 15

ดาวประกายพรึก และ ดาวประจำเมือง (Morning Star and Evening Star)

ดาวประกายพรึก (Morning Star) คือดาวศุกร์ที่ส่องสว่างในตอนใกล้เช้าน่ะครับ ดังนั้น จึงเป็นสัญญาณบอกว่าใกล้จะเข้าแล้ว (เลิกมืดซะที) รูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่จะบอกว่า ตลาดที่กำลังเป็น Bear Market อยู่นี้กำลังจะเปลี่ยนทิศทางกลายเป็น Bull Market แล้ว รูปแบบนี้จะประกอบด้วย เทียน 3 แท่ง คือ แท่งแรกเป็นเทียนสีดำ แท่งที่สองเป็นเทียนที่สั้นมากๆ และพิสัยอยู่นอกพิสัยของแท่งเทียนอันแรก ก่อให้เกิดช่องว่าง (Gap) แท่งที่สองนี้จะเป็นสีอะไรก็ได้ และตามด้วยเทียนแทงที่ 3 ซึ่งมีสีขาว ที่ยาวทะลุขึ้นไปเกินกว่าจุดกึ่งกลาง (Mid-Point) ของเทียนแท่งแรก โดยที่ระหว่างเทียนแท่งที่สองและแท่งที่สาม จะมี Gap หรือไม่ก็ได้ แต่ถ้ามีก็จะดูหนักแน่นกว่าไม่มี (ดูรูป 15.4 ดีกว่าครับ อธิบายลำบากจัง)

ทำไม Morning Star ถึงเป็น Bottom reversal indicator ได้ เรามาลองดูกัน ในวันแรก เทียนเป็นแท่งสีดำ ซึ่งแสดงว่าความรู้สึก Bearish นั่นยังคงครอบงำตลาดอยู่ (ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวโน้มเดิม) อย่างไรก็ดี ในวันที่สองนั้น ราคาหุ้นได้ขยับตัวลดลงไปลึกมาก จนก่อให้เกิด Gap แต่ในขณะเดียวกัน ราคาเปิดกับราคาปิด กลับไม่ต่างกันมากนัก (จะเห็นได้จากแท่งเทียนที่สั้นมาก ในวันที่สอง) อย่างที่ได้เคยเรียนไว้ก่อนหน้านี้นะครับ ว่าการที่แท่งเทียนสั้นมากๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็น Doji ซึ่งหมายถึงราคาเปิดเท่ากับราคาปิด) แสดงให้เห็นว่า ผู้คนในตลาดก็ไม่รู้ทิศทางเหมือนกัน ว่าราคามันจะวิ่งขึ้นต่อหรือว่าหมดแรงแล้วตก มันเป็นการต่อสู้กันระหว่างแรงซื้อกับแรงขายน่ะครับ

ลักษณะนี้ เหมือนกับจะเป็นการเตือนกลายๆอยู่แล้วว่า แรงที่จะฉุดหุ้นขึ้นต่อ เริ่มมีอุปสรรคเข้ามาขัดขวางแล้ว แต่ก็ยังไม่แน่นะครับ เพราะอันที่จริงแล้ว Gap นี่มันสามารถเป็นสัญญาณบอกว่า แนวโน้มจะแรงขึ้นก็ได้ อย่างเช่น Breakaway Gap ที่เราเรียนกันมาในบทต้นๆแล้ว และตัว Gap เองมันจะกลายเป็น Resistance ในตัว ในกรณีที่ตลาดกำลังลง และเป็น Support ในตลาดที่กำลังขึ้น ซึ่งจะมีความหมายจนกว่าตัว Gap เองจะถูกปิดทับโดยแนวโน้มของราคา เอาเป็นว่าถึงตอนนี้แสดงว่าแรงซื้อกับแรงขายกำลังต่อสู้กันอย่างดุเดือดแล้วกันครับ

ดังนั้น เราก็เลยต้องอาศัยเทียนแท่งที่สาม เป็นตัวตัดสิน ซึ่งปรากฏว่าเป็นสีขาว วิ่งกระฉูดทะลุเทียนแท่งแรกไปเลย (ซึ่งเป็นการปิด Gap ไปในตัว) นั่นเป็นสัญญาณแสดงว่า แรงที่พยายามดันตลาดลงได้พ่ายแพ้แก่แรงซื้อเสียแล้ว และตลาดมีแนวโน้มที่จะวิ่งขึ้น

ส่วนดาวประจำเมือง (Evening Star) ก็เหมือนกับดาวประกายพรึก แหละครับ (อันที่จริงดาวสองดวงนี้ คือดาวศุกร์เหมือนกัน เพียงแต่ตอนหัวค่ำเรียกชื่ออย่างหนึ่ง ตอนใกล้รุ่งจะเรียกอีกชื่อหนึ่ง) เนื่องจากดาวประจำเมืองจะส่องสว่างในท้องฟ้า สำหรับช่วงหัวค่ำ ดังนั้น สัญญาณของมันจึงเป็นแบบ Top reversal คือ เป็นการเตือนว่า แนวโน้มที่ขึ้นมาตลอดนั้น กำลังจะเปลี่ยนเป็นลงแล้ว ในกรณีนี้ เทียนแท่งแรกจะเป็นสีขาว ตามด้วยเทียนแท่งที่สองซึ่งสั้นมากๆสีอะไรก็ได้ และต่อด้วยเทียนแท่งที่สาม ซึ่งเป็นสีดำยาวทะลุแท่งแรกลงมาเกินกว่าครึ่ง ถ้าเจอสัญญาณนี้ก็ระวังไว้หน่อยครับ ตลาดมีสิทธิ์เปลี่ยนแนวโน้ม จากแนวโน้มขึ้น กลายเป็นแนวโน้มลงได้ ส่วนแนวความคิดของ Evening Star ก็เหมือนกับ Morning Star แหละครับ เพียงแต่ว่าเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม

จะเห็นได้ว่า Morning และ Evening Stars นี้ จะคล้ายกับรูปแบบของการวิเคราะห์ทางเทคนิคแบบตะวันตก ที่ชื่อว่า Island กล่าวคือ ในกรณีของ Island นั้น ราคาตำสุดในวันที่สอง จะต้องสูงกว่าราคาสูงสุดในวันแรกและวันที่สาม จะเห็นได้ว่าแตกต่างกันตรงที่ว่า Morning และ Evening Stars จะใช้ Gap ของราคาเปิดปิดเป็นหลัง แต่ Island จะใช้ Gap ของราคาสูงสุดต่ำสุดเป็นหลัก แต่หลักการคล้ายๆกัน และ Island Top และ Island Bottom จัดได้ว่าเป็นกรณีพิเศษ (Special Cases) ของ Morning และ Evening Stars

สัญญาณของ Morning และ Evening Stars นี้ จะมีความหมายขึ้น เมื่อเทียนแท่งกลางเป็น Doji เพราะมันแสดงว่าแรงซื้อกับแรงขายเจ๊ากันพอดี ตลาดโหลงโจ้งแล้วไม่ไปไหน ราคาเปิดกับราคาปิดเท่ากันพอดี กรณีนี้เราเรียกว่า Doji Star ตามรูป 15.5 (ถ้าเป็น Morning Star ก็เรียกว่า Morning Doji Star และ Evening Star ก็จะเรียกว่า Evening Doji Star) และถ้าทั้งสามแท่งเป็น Doji หมด แต่ฟอร์มตัวเหมือน Morning หรือ Evening Star กรณีนี้หนักแน่นมากเลยครับ เราเรียกว่า Tri Star ซึ่งจัดเป็น Major reversal pattern ทีเดียว

ถ้าแท่งกลางไม่ใช่ Doji แต่มีสีตรงกันข้ามกับแท่งแรก ก็จะดูมีน้ำหนักมากขึ้นเช่นกันครับ (เช่น ในกรณีของ Morning Star ก็เป็นสีขาว เพราะแท่งแรกจะเป็นสีดำ) ซึ่งแสดงว่า แรงฝ่ายตรงข้าม ชนะแรงของแนวโน้มเดิมไปเล็กน้อย ถ้าเป็นมวย ก็เรียกว่าได้เปรียบนิดหน่อยครับ แต่ตรงนี้ไม่ซีเรียสนะครับ จะเป็นสีเดียวกันกับแท่งแรกก็ไม่ผิดกติกา แต่ถ้าสีตรงกันข้ามถือว่าภาษีดีขึ้นหน่อย

อีกกรณีหนึ่ง ที่จะทำให้รูปแบบนี้ มีความสำคัญมากขึ้นก็คือ กรณีที่มี Gap ระหว่างเทียนแท่งที่สองกับแท่งที่สาม และอย่าลืมนะครับ ว่าเทียนแท่งที่สามต้องยาวทะลุแท่งแรกเกินกว่าครึ่ง เพราะถ้ามันไม่ทะลุแท่งแรกและไม่มี Gap ระหว่างเทียนแท่งที่สองและแท่งที่สาม มันจะกลายเป็นอีก pattern นึงที่ชื่อว่า Tasuki Gaps ซึ่งเป็นรูปแบบต่อเนื่อง (Continuous Pattern) แบบหนึ่ง ที่เราจะพูดถึงในบทหน้า

เนื้อหาต่อไป : ดาวตกและฆ้อนกลับหัว (Shooting Star and Inverted Hammer)

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : แท่งร่ม (Umbrella Lines)