บทที่ 13

การใช้วัฏจักรกับเครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิคอื่นๆ

เอาล่ะตอนนี้เรารู้วิธีการหาระยะเวลาของวัฎจักรอย่างง่ายๆแล้ว เราจะทำอะไรกับมันต่อไปกันดี แหมอย่างน้อยเราก็พอจะเดาได้บ้างล่ะครับว่า การเปลี่ยนแปลงของราคาจะอยู่แถวๆไหน เพียงแต่ว่าในทางปฏิบัติจริงๆแล้ว ราคามันไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นวัฏจักรตรงเป๊ะเหมือนในทางทฤษฎี ดังนั้นมันก็ผิดพลาดได้บ้างประมาณ 15% อย่างที่ได้เรียนไปแล้ว

ทีนี้เราก็นำเอาวัฏจักรที่ได้นี้ มาเป็นตัวบอกระยะเวลาในการเปลี่ยนทิศทางของราคาอย่างคร่าวๆได้ ส่วนที่จะบอกว่าเมื่อไหร่แน่นอนลงไปนั้น เราก็ต้องนำเอาเครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิคอื่นๆใช้ เช่นถ้าวัดตามรอบวัฏจักรแล้ว ราคาควรจะขยับตัวขึ้นภายใน 2 - 3 อาทิตย์นี้ แต่ไม่รู้เมื่อไหร่แน่ เราก็นำเอาเครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิคอื่นๆ เช่น RSI มาใช้ ถ้าเครื่องมือเหล่านั้นส่งสัญญาณว่ามีการเปลี่ยนทิศทาง คุณก็มีความมั่นใจได้มากขึ้นว่าการเปลี่ยนทิศทางน่าจะเกิดขึ้นจริง

อันที่จริงคุณมีสองทางเลือก คือ คุณอาจจะใช้เครื่องมือที่ให้สัญญาณเร็ว เพื่อที่จะเข้าหรือออกก่อนที่จะถึงจุดครบรอบวัฏจักรจริง ซึ่งถ้าคุณผิด คุณก็น่าจะผิดได้ไม่นานหรอกครับ เพราะถ้าตลาดวิ่งตามวัฏจักเดิมมันก็จะต้องถึงเวลาหมดรอบจนได้ อีกวิธีหนึ่งคือคุณใช้เครื่องมือที่ให้สัญญาณช้าหน่อย ซึ่งคุณอาจจะเข้าหรือออกจากตลาดช้าไปบ้าง (คือเข้าหลังจากที่ราคามันดีดตัวขึ้นไปแล้ว) แต่คุณก็มีความมั่นใจมากขึ้นว่าคุณคงไม่พลาด ทั้งนี้การเลือกวิธีไหนนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับรสนิยมแล้ว ยังขึ้นอยู่กับวัฏจักรความถี่ต่ำอันที่ถัดไปจากอันที่คุณกำลังเล่นอยู่ด้วย ว่ามีความรุนแรง (amplitude) ขนาดไหน และกำลังอยู่ในช่วงขึ้นหรือลง ถ้ามีความรุนแรงไม่มาก แสดงว่าตลาดกำลังอยู่ในช่วง cycle มากกว่า trend ซึ่งกรณีนั้น เครื่องมือประเภท indicators จะเหมาะกว่าประเภท trend following system ได้ เนื่องจากต่อให้คุณเข้าช้า ผลของ trend จะช่วยเสริมกับ cycle ที่คุณหามาได้

นอกจากจะสามารถนำเอาเครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิคมาผสมผสานกับวัฏจักรได้แล้ว การรู้รอบระยะเวลาของวัฏจักร ก็อาจจะช่วยให้เรานำมาประยุกต์ใช้ ในการหาระยะเวลาที่เหมาะสม ในการใช้คำนวณเครื่องมือทางเทคนิคต่างๆได้ด้วย ดังจะได้กล่าวต่อไป

เนื้อหาต่อไป : คลื่นวัฏจักรกับค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : การวัดด้วยสายตาอย่างง่ายๆเทียบกับการวัดทางสถิติ