บทที่ 13

หลักการวัดคลื่นวัฎจักรอย่างง่ายๆ

หลักการที่เราจะใช้กันนี้ เป็นหลักการที่สรุปมาจากวิธีง่ายๆที่เสนอโดย Jacob Bernstein อันที่จริงแล้ว Bernstein ไม่ได้สรุปหลัดการเป็นข้อๆเด่นชัดหรอกนะครับ แต่เราสามารถสรุปเนื้อหาของหลักการได้ดังนี้ครับ

1. คลื่นวัฎจักรในชีวิตจริง ไม่จำเป็นต้องวิ่งตรงเป๊ะตามทฤษฎี มีความคลาดเคลื่อนได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ความคลาดเคลื่อนจะไม่เกิน 15%

2. คลื่นวัฎจักรไม่จำเป็นต้องสมมาตร กล่าวคือ ระยะจากก้นบึ้งหนึ่งไปหายอดถัดไป กับระยะจากยอดดังกล่าวไปหาก้นบึ้งถัดไป ไม่จำเป็นจะต้องเท่ากัน พูดง่ายๆก็คือ วัฎจักรส่วนใหญ่ที่คุณเห็นจะเบ้ไม่ซ้ายก็ขวา หาวัฏจักรตรงเป๊ะๆได้ยากซึ่งก็ไม่ใช่ของแปลกถ้าเราเข้าใจว่า ราคาที่เราเห็นประกอบด้วยคลื่นวัฏจักรหลายอันประกอบกัน การเบ้จึงเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว

3. เนื่องจากคลื่นส่วนใหญ่มีโอกาสเบ้ ดังนั้น การวัดความยาวคลื่นจากจุดต่ำสุดไปหาจุดต่ำสุด จะให้ผลที่แม่นยำกว่าจากจุดสูงสุดไปหาจุดสูงสุด และด้วยเหตุผลเดียวกัน การใช้คลื่นวัฎจักรในการช่วยตัดสินใจซื้อขายนั้น จะใช้ในการคาดการณ์ว่าถึงจุดก้นบึ้งหรือยัง ได้ดีกว่าในการคาดการณ์ว่า ถึงจุดยอดหรือยัง อย่างไรก็ดี ถ้าเรารู้ข้อมูลของคลื่นวัฎจักรที่ใหญ่กว่าคลื่นวัฎจักรที่เรากำลังจับตามองอยู่แล้วละก้อ การคำนวณว่าถึงจุดสุดยอดแล้วหรือยังจะมีความแม่นยำขึ้น

4. แม้ว่าคลื่นวัฎจักรไม่จำเป็นต้องวิ่งตรงเป๊ะๆ แต่ตามกฎของค่าเฉลี่ยในระยะยาวแล้ว ความยาวคลื่นจะมีการปรับตัวจนกระทั่งความยาวคลื่นเฉลี่ย มีค่าเท่ากับหรือใกล้เคียงกับความยาวคลื่นทางทฤษฎี

5. สืบเนื่องผลจากข้อ 1 และข้อ 4 ถ้าหากคลื่นรอบใดมีระยะเวลาสั้นผิดปกติ คลื่นรอบต่อไปมีโอกาสที่จะขยายตัวยาวผิดปกติ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามกฎของค่าเฉลี่ยในระยะยาวในข้อ 4 ในทำนองกลับกัน ถ้าคลื่นรอบนี้ขยายตัวยาวผิดปกติโอกาสที่คลื่นรอบหน้าจะหดตัวเพื่อรักษาค่าเฉลี่ยไว้ก็สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคลื่นรอบก่อนหน้านั้น มีความยาวหรือสั้นผิดปกติมากกว่า 15% ตามข้อที่ 1

เอาล่ะ ทีนี้เราก็มาเรียนรู้ด้วยตัวอย่างแล้วกันนะครับ ดูรูปที่ 13.9 ครับ ในรูปนี้เป็นกราฟรายสัปดาห์ของ SET index ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา เผอิญรูปนี้ค่อนข้างง่ายนะครับ เพราะช่วงเวลาดังกล่าว SET index ไม่ค่อยถูกกระทบจากผลของแนวโน้ม (หรือคลื่นวัฎจักรลูกใหญ่มากๆ) มากนัก ในทางปฏิบัติ ถ้าหากเราเห็นแนวโน้มของราคาเด่นชัด เราควรจะต้องปรับข้อมูลโดยการ detrend คือเอาผลของแนวโน้มออกไปเสียก่อน อาจจะด้วยการคำนวณ regression เพื่อหา trend แล้วนำมาหักออกจากข้อมูลก่อน หรืออาจจะทำ moving average แล้วหักออกจากตัวราคาก็ได้ครับ ในที่นี้ผลของแนวโน้มมีอยู่บ้างแต่ไม่รุนแรงนัก เพราะเรายังคงเห็นวัฎจักรค่อนข้างชัดเจน เลยยังไม่ต้อง detrend ก็ได้ครับ

เริ่มจากการใช้สายตาดูคร่าวๆก่อนนะครับ เราสามารถมองเห็นจุดต่ำสุดและสูงสุดของ SET index 3 รอบ ดังที่แสดงไว้ที่จุด A ถึง G บางท่านอาจสงสัยว่า ทางซ้ายของจุด A มีจุดที่ต่ำกว่าจุด A อีก ทำไมเลือกจุด A ไม่เลือกจุดต่ำกว่า คำตอบก็คือ จุดดังกล่าวมีลักษณะเป็น spike ครับ กล่าวคือ มันใช้เวลาสั้นมาก ในการตกลงมา อีกทั้งยังดีดกลับอย่างรวดเร็วเกินไปด้วย ลักษณะแบบนี้ดูเป็นความผิดปกติมากกว่าจะเป็นของจริงครับ

ที่นี้เราก็เริ่มวัดระยะเวลาจากจุดต่ำสุดไปหาจุดต่ำสุด จะเห็นว่าใน 3 รอบนั้น มีระยะเวลา 40, 33 และ 52 สัปดาห์ตามลำดับ โดยมีค่าเฉลี่ยประมาณ 42 สัปดาห์ สำหรับจุดสูงสุดไปหาจุดสูงสุดมีระยะเวลา 49 และ 46 สัปดาห์ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 47.5 สัปดาห์ แต่เนื่องจากการวัดวัฏจักรจากจุดต่ำสุดไปหาต่ำสุด มีความน่าเชื่อถือกว่าจากจุดสูงสุดไปหาจุดสูงสุด เราจึงเชื่อว่าตัวเลขเฉลี่ย 42 สัปดาห์น่าจะดีกว่า นอกจากนี้ ในกรณีตัวอย่างนี้ เราสามารถวัดจากจุดต่ำสุดไปหาจุดต่ำสุดได้ถึง 4 ครั้ง (A, C, E และ G) แต่วัดจากจุดสูงสุดไปหาสูงสุดได้แค่ 3 ครั้งเท่านั้น (B, D และ F) ดังนั้นการวัดจากจุดต่ำสุดไปหาต่ำสุดจะได้ตัวอย่างมากกว่า

ตามที่วัดมา ขณะนี้เราก็ได้ตัวเลขคร่าวๆแล้วว่าวัฎจักร เท่าที่วัดมา (ตัวอย่างนี้มีข้อมูลน้อยไปหน่อย ความจริงควรจะมากกว่านี้นะครับ) มีระยะเวลาเฉลี่ยรอบละประมาณ 42 สัปดาห์ ทีนี้ก็ลองเอาระยะเวลาดังกล่าวมาลองใช้ดูกับข้อมูลจริงว่าพอใช้ได้หรือไม่

ในสมัยที่เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลยังไม่เฟื่องฟูนั้น คนส่วนใหญ่ใช้วิธีการเขียน chart ลงบนกระดาษ ดังนั้น การทดลองก็ยุ่งยากพอสมควร จึงมีการคิดค้นเครื่องมือวัดวัฏจักรอย่างง่ายๆขึ้น เรียกเครื่องมือนี้ตามผู้ค้นคิดคือ Stan Erlich ว่า Erlich cycle finder เครืองมือนี้เป็นเหมือนเครื่องคาลิปเปอร์ (ไม่รู้เคยเห็นไหม มี 2 ขา ปากแหลมๆที่เค้าใช้วัดของกันน่ะครับ ยังพอหาดูได้ตามโรงกลึง หรือร้านขายเครื่องเหล็ก หรืออะไหล่รถยนต์) แต่ Erlich cycle finder นีมีหลายหัวขยับเข้าออกได้เทียบกับ chart เพื่อดูว่าวัฏจักรยาวประมาณเท่าไร เมื่อขยับเข้าออก ระยะห่างระหว่างขา 2 ขา ในแต่ละหัวจะเท่ากันเสมอ ยังไม่เคยเห็นเครื่องมือนี้มีขายในเมืองไทย

แต่ปัจจุบันนี้ไม่ต้องใช้เครื่องมือนี้แล้วล่ะครับ เพราะว่าโปรแกรมทางด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคส่วนใหญ่ จะมีเครื่องมือช่วยหาวัฏจักรได้แบบเดียวกับ Erlich cycle finder ในตัวอยู่แล้ว ในที่นี้จะพูดถึงโปรแกรม MetaStock นะครับ เพราะเป็นที่นิยมใช้กันในเมืองไทย MetaStock มีเครื่องมือที่เรียก cycle finder ซึ่งสามารถเรียกได้ โดยการกดปุ่ม P เพื่อเรียก pointer ขึ้นมา แล้วกดปุ่ม C เพื่อเรียก cycle finder โปรแกรมจะถามว่าวัฎจักรรอบหนึ่งใช้เวลาเท่าใด ซึ่งในกรณีตัวอย่างของเราก็ใช้ 42 สัปดาห์ ก็เราคำนวณมาได้เท่านั้นนี่ครับ

MetaStock จะแสดงเส้นวัฏจักรเป็นช่วงๆช่วงละ 42 สัปดาห์ จากนั้นใช้ปุ่มลูกศรซ้ายขวา เลื่อนไปมาจนถึงจุดที่คิดว่ามันลงตัวได้ดีพอสมควร ถ้าหากไม่มีจุดที่ลงตัวได้ดี อาจจะปรับระยะเวลาของรอบวัฏจักรให้มากขึ้นหรือน้อยลงได้ โดยใช้ปุ่มลูกศรขึ้นหรือลง จะได้ผลดังแสดงในรูปที่ 13.10 ซึ่งจะช่วยพยากรณ์ถึงจุดต่ำสุดครั้งต่อไปของ SET index ได้

เนื้อหาต่อไป : การวัดด้วยสายตาอย่างง่ายๆเทียบกับการวัดทางสถิติ

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : การวัดคลื่นวัฎจักร