บทที่ 11

เป้าหมายราคา (price objectives)

ความสำคัญของ Golden Section ยังคงไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น หากแต่ยังคงสามารถนำไปใช้ ในการหาเป้าหมายของราคา (price objectives) ซึ่ง Fischer ได้นำมาประยุกต์ใช้กับทฤษฎีคลื่นของ Elliott ดังรูปที่ 11.21 ซึ่งเมื่อจุดต่ำสุดของคลื่นที่ 2 ถูกพบ การคำนวณหาเป้าหมายของราคาของคลื่นลูกที่ 3 และลูกที่ 5 สามารถกระทำได้ดังนี้

เป้าหมายของคลื่นลูกที่ 3 = ระดับความสูงจากปลายคลื่นที่ 1 + (0.618 x ความสูงของคลื่นที่ 1)

เป้าหมายของคลื่นลูกที่ 5 = ระดับความสูงจากปลายคลื่นที่ 1 + (1.618 x ความสูงของคลื่นที่ 1)

อย่างไรก็ตาม ความลึกของการปรับตัวลง (pullback) ของคลื่นลูกที่ 2 และ 4 ไม่ได้ถูกนำเข้ามาอยู่ในการพิจารณาตามวิธีนี้ นอกจากนี้ หากการเกิดของคลื่นลูกที่ 3 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้คาดการณ์ไว้ เป้าหมายของคลื่นลูกที่ 5 ที่ได้พิจารณาไว้ก่อนหน้านั้น ก็ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย และเพื่อป้องกัน หรือลดความเสี่ยงจากสัญญาณหลอก การนำเอาเรื่องตัวกรอง (filter) เข้ามาช่วยในการพิจารณา ก็น่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น แต่คำถามที่ตามมาคือ ค่านั้นควรเป็นเท่าไร? คำตอบคงจะไม่มีใครกำหนดลงไปได้ตรงๆ แต่ filter ที่ดี ควรที่จะปรับไปตามสภาพอ่อนไหวของตลาด (market volatility)

ก่อนที่จะข้ามส่วนของ wave ไป ลองมาดูตัวอย่างการใช้ Golden Section ในการหาเป้าหมายของราคา ซึ่งจากตัวอย่างที่ 11.4 นี้ จะเห็นได้ว่า SET index มีการปรับตัวใกล้แนวที่ถูกคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า (expected) ซึ่งผู้ที่ใช้หลักนี้พิจารณา ก็จะกล่าวว่า จุดการปรับตัวนั้นเป็นคลื่นลูกที่ 3 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคน อาจจะไม่ใช้หลักการนี้ ดังนั้น การเกิดคลื่นลูกที่ 3 อาจจะเป็นระดับที่แสดงไว้ ณ จุดที่ 3 ตามตัวอย่างก็ได้ ของอย่างนี้ขึ้นกับมุมมองของแต่ละคน อย่างไรก็ตามอยากฝากข้อเตือนใจประการหนึ่งไว้ คือ วิธีการหาเป้าหมายราคา โดยใช้ Golden Section ไม่สามารถใช้ได้อย่างถูกต้องทุกกรณีในการคาดการณ์ เพราะอะไรหรือครับ ก็เพราะผู้เขียนเคยลองมาแล้ว แต่ที่ให้ไว้เพราะ เผื่อเป็นเครื่องมือไว้ใช้ในการพิจารณาควบคู่กับเครื่องมืออื่นๆในการวิเคราะห์ครับ

เนื้อหาต่อไป : บทที่ 12 ทฤษฎีแกนน์ Gann's Theory

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : เป้าหมายเวลา (Time-gold days)