บทที่ 11

พฤติกรรมและความหมายของแต่ละคลื่น

ก่อนอื่น เราควรมาทำความเข้าใจถึงอารมณ์ หรือพฤติกรรมของผู้ลงทุนในตลาดหุ้น ณ ขณะเวลาที่เกิดคลื่นลูกต่างๆ ทั้ง 8 ลูก (ได้แก่ 1,2,3,4, 5 a,b,และ c) ซึ่งแตกต่างกันออกไป การศึกษาอารมณ์หรือพฤติกรรมดังกล่าว ย่อมเป็นการช่วยในการคาดคะเนถึงอารมณ์ หรือพฤติกรรมของมวลชนที่จะเกิดขึ้นในช่วงถัดไปได้

คลื่นลูกที่ 1

อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นคลื่นปรับตัวขึ้น (revound) จากที่ก่อนหน้านั้น เจอคลื่นปรับตัวลงถล่มเอา จิตใจของผู้ลงทุนในช่วงเวลานี้ ยังคงกล้าๆ กลัวๆอยู่ หรือยังไม่แน่ใจในทิศทางของตลาดอย่างแน่ชัด การขยับตัวขึ้นจึงเท่ากับเป็นการปูพื้นฐานทางจิตใจของนักลงทุนใหม่ หลังจากผ่านสถานการณ์ที่โหดร้ายมาแล้ว

คลื่นลูกที่ 2

เป็นคลื่นปรับตัวลงจากคลื่นลูกที่ 1 ตามหลักการของปฎิกิริยาที่ได้เคยกล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งบางครั้ง ก็เล่นงานจนนักลงทุนเกือบจะขาดความเชื่อมั่นเอาเลยทีเดียว เพราะความอ่อนไหวของจิตใจ ประกอบกับความรู้สึกที่ว่า ราคา หุ้นที่ได้ขึ้นขยับตัวขึ้นมานั้น (จากคลื่นลูกที่1) เป็นเพียงแค่การปรับตัวขึ้นชั่วเคราว อย่างไรก็ดี ถ้าหากสังเกตปริมาณหุ้น จะพบว่ามีปริมาณน้อยกว่าคลื่นลูกที่1

คลื่นลูกที่ 3

เป็นช่วงเวลาที่แนวโน้มสำคัญๆเริ่มที่จะปรากฏ หรือได้ปัจจัยพื้นฐานเข้ามาช่วยกระตุ้น จึงเท่ากับเป็นการเติมหรือเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ลักษณะการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นโดยรวม จึงมีการปรับตัวขึ้น และเป็นไปอย่างมั่นคง ปริมาณหุ้น ตลอดจนการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และด้วยเหตุที่ความเชื่อมั่นในตลาดมีค่อนข้างสูง จึงอาจจะทำให้คลื่นลูกนี้ อาจมีการขยายตัวหรือต่อตัวซ้อน ๆ กันออกไปได้อีก การเข้าใจในรูปลักษณ์คลื่นที่ 3 นี้ จัดได้ว่ามีประโยชน์เพราะจะทำให้นักลงทุนทราบว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงใด และเป็นการตรวจสอบการนับคลื่นตั้งแต่ต้น ว่านับถูกหรือไม่?

คลื่นลูกที่ 4

เป็นคลื่นปรับตัวลงจากลูกคลื่นที่ 3 อย่างไรก็ตาม ความสลับซับซ้อนดูจะมีมากกว่าคลื่นลูกที่ 2 และในเง่ความลึกในการปรับตัวลง ขึ้นอยู่กับแรงผลักดันของคลื่นลูกที่ 3 ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ลักษณะการปรับตัวลงของคลื่นลูกที่ 4 นี้ นับเป็นการชี้ทางอ้อมถึงระลอกคลื่นลูกที่ 5 ที่จะตามมา ว่าจะมั่นคงมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม หากสังเกตปริมาณหุ้นจะพบว่า ปริมาณหุ้นในคลื่นลูกนี้ จะมีน้อยกว่าปริมาณหุ้นในคลื่นลูกที่ 3 แต่หาเปรียบเทียบกับลูกคลื่นที่ 2 แล้ว ปริมาณหุ้นในคลื่นลูกที่ 4 ยังคงมีมากกว่า

คลื่นลูกที่ 5

ซึ่งเป็นคลื่นลูกสุดท้ายก่อนที่จะมีการปรับตัวลง สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในประการหนึ่งก็คือ ราคาหุ้นส่วนใหญ่ที่เป็นอยู่ในช่วงนั้น เกินกว่าที่ปัจจัยพื้นฐานเข้ารอบรับ การเก็งกำไรเป็นไปในสัดส่วนที่สูงกว่าที่จะยอมรับ ดังนั้น การชิงเททำกำไรระยะสั้น จึงทำให้เกิดการปรับตัวลงของราคาลงได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ซึ่งก่อให้เกิดคลื่น a ในระยะเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ถ้าหากปริมาณหุ้นในคลื่นลูกที่ 5 มีจำนวนเท่ากับ หรือมากกว่าปริมาณหุ้นในระลอกคลื่นที่ 3 อาจจะเป็นสัญญาณถึง ความเป็นไปได้ที่ลูกคลื่นที่ 5 นี้ อาจจะเกิดการต่อตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากความยาวคลื่นลูกที่ 1 และลูกที่ 3 ก่อนหน้ามีความยาวเท่ากัน

คลื่น a

เป็นระลอกคลื่นที่มีการปรับตัวลง ซึ่งเป็นระลอกแรกใน bear market อย่างไรก็ตาม ด้วยความเชื่อมั่นและยังเมามันอยู่ ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่อว่า การปรับตัวลงนี้ เป็นเพียงแค่การปรับตัว เพื่อสร้างฐานสำหรับการเคลื่อนตัวขึ้นครั้งใหม่ จึงยังคงทำให้มีแรงซื้อเข้ามาในตลาดอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่หารู้ไม่ว่าตลาดเริ่มอยู่ในอุ้งมือหมีเข้าแล้ว

คลื่น b

ซึ่งเป็นคลื่นที่ดีดตัวขึ้นจากคลื่น a ซึ่งนักลงทุนบางคนที่เข้าใจถึงรูปแบบของคลื่นแล้วจะรู้ว่าเป็นคลื่นที่ขึ้นมาเพื่อให้ขายของ และออกไปนั่งดูอยู่ข้างนอกตลาด นอกจากนี้ คลื่น bยังเป็นหนทางที่ใช้แก้เกม สำหรับผู้ที่พลาดท่าโดนหลอกในคลื่น a ให้ฉากตัวออกได้แล้ว อย่างไรก็ตาม รายการที่ตกลงซื้อขายกัน ในเมื่อข้างหนึ่งเป็นผู้ขาย อีกข้างหนึ่งย่อมจะมีผู้ซื้อ(ซึ่งหากว่าผู้เล่น เล่นไปด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล) ก็อาจจะเจอกับสภาพที่เรียกว่า ติดหุ้น อันเกิดจากการปรับตัวลงของคลื่นถัดมา

คลื่น c

เป็นคลื่นที่ปรับตัวลงอย่างเห็นเด่นชัด เมื่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหมดลง ย่อมเป็นการทำให้เกิดอุปทานส่วนเกิน(excess supply) ขึ้นอย่างง่ายดาย ราคาหุ้นส่วนใหญ่จึงมีการปรับตัวลง ซึ่งบางครั้งก็เป็นไปอย่างรวดเร็วถึงขั้นตื่นตระหนก

เนื้อหาต่อไป : การนับคลื่น (wave count)

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : รูปแบบพื้นฐาน Elliott Wave