บทที่ 11
การต่อตัว (extension)
การต่อตัวสามารถที่จะเกิดขึ้นได้กับคลื่นปกติ รวมถึงคลื่นที่ขยายตัวแล้วก็ได้ ซึ่งถ้ามองจากรูปที่ 11.5 ก็จะเป็นการง่ายในการศึกษาเรื่องการต่อตัว กล่าวคือ แทนที่คลื่นที่ 5 ซึ่งปกติจะเกิดขึ้นหลังจากคลื่นลูกที่ 4 สิ้นสุดลง กลับปรากฏว่า ได้มีคลื่นย่อยๆเกิดขึ้นภายใต้หลักการของคลื่น และการนับคลื่น ซึ่งแสดงโดยตัวเลขที่อยู่ในวงเล็บ ที่เริ่มต้นด้วยคลื่นที่ (1) ไปจนถึงคลื่นลูกที่ (4) แต่การเกิดคลื่นลูกที่ (5) นั้น กลับมีการต่อตัวออกเป็นคลื่นย่อยๆออกไปอีกตามกฎเกณฑ์ของคลื่น จึงยังผลให้คลื่นปกติยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญก็คือ การต่อตัวไม่จำเพาะเจาะจงว่าจะต้องเกิดขึ้นในคลื่นลูกที่ 5 เช่นอาจจะเกิดขึ้นในคลื่น a และ c ใน bear market ได้
อย่างไรก็ตาม หวังว่าท่านผู้อ่าน จะยังคงจำกฎที่กล่าวว่า ปลายคลื่นลูกที่ 4 ไม่ควรที่จะเกิดการเหลื่อมกันกับยอดคลื่นที่ 1 ได้ แต่ในกรณีที่เกิดรูปแบบที่เรียกว่า diagonal triangle (ตามรูปที่ 11.6) ขึ้น ซึ่งมักจะปรากฏในคลื่นลูกที่ 5 หรือคลื่น c การเหลื่อมกันระหว่างคลื่นลูกที่ 1 กับลูกที่ 4 มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง (แต่ก็ไม่ได้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัวเสียทีเดียว) เท่ากับว่า เป็นการยืดหยุ่นกฎ non-overlap ของ Elliott
ไหนๆก็ยกตัวอย่างเกี่ยวกับคลื่นลูกที่ 5 แล้ว ก็จะพูดเพิ่มเติมถึงกรณีที่บางครั้ง คลื่นลูกที่ 5 ไม่สามารถขยับตัวให้อยู่เหนือคลื่นลูกที่ 3 ได้ ซึ่งศัพท์ทางเทคนิคมักใช้คำว่า failure และเป็นการบอกโดยนัยถึงการเกิด reversal pattern ที่จะตามมา ซึ่งรูปที่ 11.7 ได้แสดงให้เห็นการเกิด failure ใน bull และ bear market