บทที่ 1
โหมโรง Prelude
ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะเคยได้ยินคำว่าการวิเคราะห์ทางเทคนิคมาอย่างชินหู บางท่านอาจจะเคยใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิคมาบ้าง บางท่านอาจจะใช้เป็นเครื่องมือหากินในการตัดสินใจซื้อขายหุ้นอยู่ทุกวัน แต่ถ้าถามว่าการวิเคราะห์ทางเทคนิคคืออะไร มีจุดกำเนิดขึ้นมาจากแนวความคิดอะไร และมีความสำคัญอย่างไร บางทีอาจจะต้องคิดกันนานหน่อย เพราะเราใช้เครื่องมือเหล่านี้กันจะกลายเป็นความเคยชินมากกว่าที่จะค้นหาคำตอบพื้นฐานเหล่านี้
การวิเคราะห์ทางด้านเทคนิค เป็นวิธีการศึกษาพฤติกรรมของหุ้น โดยอาศัยรูปกราฟเพื่อจุดประสงค์ในการคาดการณ์แนวโน้มของราคาในอนาคต นักวิเคราะห์ทางเทคนิค จะศึกษาพฤติกรรมของหุ้นจากราคาและปริมาณการซื้อขาย (หรือมูลค่าการซื้อขาย) ซึ่งถือได้ว่า เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญ สำหรับการวิเคราะห์ทางเทคนิค
อย่างไรก็ตาม กระบวนยุทธ์ในการวิเคราะห์ทางเทคนิคนี้ ใช่ว่าอยู่ดีๆจะบัญญัติขึ้นโดยไม่มีหลักการ แต่แท้จริงแล้ว มันมีแนวคิดหรือความเชื่อที่การวิเคราะห์นี้อิงอยู่ 3 ประการคือ
1. พฤติกรรมของราคาหุ้นที่แสดงออกมานั้น ได้ดูดซับเหตุการณ์ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเอาไว้แล้ว นั่นหมายความว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ ย่อมส่งผลกระทบต่ออุปสงค์และอุปทานในหุ้น ซึ่งแน่นอนย่อมมีผลต่อราคา เนื่องจากราคาถูกกำหนดขึ้นจาก อุปสงค์และอุปทานของหุ้น เพราะฉะนั้น ถ้าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นไปในเชิงบวก ย่อมทำให้เกิดอุปสงค์มากกว่าอุปทาน หรือพูดง่ายๆว่า แรงซื้อมากกว่าแรงขาย ก็จะส่งผลให้ราคามีการปรับตัวสูงขึ้น ในทางกลับกัน หากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นไปในเชิงลบ ย่อมทำให้เกิดอุปทานมากกว่าอุปสงค์ (แรงขายมากกว่าแรงซื้อ) ก็จะส่งผลให้ราคามีการปรับตัวลง
อย่างไรก็ดี จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ข้อมูลสำคัญที่นักวิเคราะห์ทางด้านเทคนิคใช้ในการวิเคราะห์ จะพุ่งเป้าไปที่ราคาและปริมาณการซื้อขาย จึงดูเหมือนว่านักวิเคราะห์ทางด้านเทคนิคร่นขอบเขตของการศึกษา แบบการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) โดยกระโดดไปศึกษาที่ข้อสรุปของผลกระทบเลย และให้ความสนใจกับสาเหตุน้อยมาก เช่น ถ้าราคาปรับตัวสูงขึ้น จะหมายถึง การเปลี่ยนแปลงในปัจจัยต่างๆจะค่อนไปในทิศทางเชิงลบ ในขณะที่การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน จะเป็นการเจาะลึกลงไปในสาเหตุ ที่เป็นแรงผลักดันต่ออุปสงค์และอุปทานที่เกิดขึ้น แต่ทั้ง 2 วิธีต่างก็มุ่งเข้าไปไขปัญหาในเรื่องทิศทางของราคาหุ้นที่ควรจะเป็นเหมือนๆกัน ดังนั้น เมื่อท่านผู้อ่านทราบถึงแนวคิดนี้แล้ว หากมีคนมองว่า การวิเคราะห์ทางด้านเทคนิคเชื่อถือไม่ได้ท่านก็อย่าไปว่าเขาเหล่านั้นเลยครับ เพราะเขาอาจจะไม่ทราบแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังก็เป็นได้
2. ราคาจะยังคงเคลื่อนไหวไปตามแนวโน้มเดิม จวบกระทั่งแนวโน้มเดิมหมดลงจริงๆ ข้อความข้างต้นมีความสมบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้ว แต่เพื่อให้ผู้อ่านบางท่านที่ยังไม่ทราบความหมายของแนวโน้ม มีความกระจ่างในข้อ 2 นี้มากขึ้น อยากจะให้ผู้อ่านนึกซะว่า ท่านได้โยนลูกปิงปองขึ้นไปในอากาศ (โดยที่ลูกปิงปองถือว่าเป็นราคาหุ้นก็แล้วกัน) จะเห็นได้ว่า ลูกปิงปองนั้นจะเคลื่อนตัวขึ้นไปเรื่อยๆ ตามทิศทางการโยนและแรงส่ง (โยน) ตอนแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป แรงส่งจะค่อยๆแผ่วลง (ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่) การเคลื่อนตัวของลูกปิงปอง นับตั้งแต่โยนจนถึงก่อนที่จะหล่นลงมา จะอยู่ในทิศทางหรือแนวโน้มขาขึ้น และจะเริ่มเปลี่ยนทิศทางมาเป็นขาลง (ตอนลูกปิงปองเริ่มตกลง) หลังจากที่แนวโน้มขาขึ้นหมดลงแล้ว
3. รูปแบบหรือพฤติกรรมของหุ้นที่เกิดขึ้นในอดีต สามารถที่จะนำมาใช้ได้ในปัจจุบันและอนาคต หรือที่บางท่านอาจเรียกว่า “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยตัวมันเอง” เนื่องจากการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิคอิงอยู่บนราคาและปริมาณการซื้อขาย (Volume) ซึ่งเป็นตัวสะท้อนผลสุทธิของแหล่งข้อมูล (information set) ในการคาดการณ์นี้ ซึ่งราคาและปริมาณการซื้อขายนี้เป็นตัวบ่งบอกจิตวิทยา ในแง่ของความกล้า หรือความกลัว ฯลฯ ซึ่งไม่ว่ายุคสมัยใด บรรดาความทั้งหลายข้างต้นก็ไม่เคยเปลี่ยน ดังนั้น รูปแบบที่เกิดขึ้นในอดีต (ที่สะท้อนจิตวิทยาในช่วงเวลานั้น) จึงยังคงสามารถที่จะนำมาใช้ได้ในปัจจุบันรวมถึงการให้เงื่อนไข หรือความน่าจะเป็นสำหรับทิศทางการเคลื่อนไหวของหุ้นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้ง 3 ข้อข้างต้นนั้นถือได้ว่า เป็นแนวคิดหรือความเชื่อมูลฐานที่เป็นจุดกำเนิดของการวิเคราะห์ทางเทคนิค ดังนั้น บางครั้งเมื่อท่านผู้อ่านได้เข้าไปในส่วนของหลักการวิเคราะห์ ขอให้ท่านผู้อ่านทราบว่า หลักการเหล่านั้นมีแนวคิดเหล่านี้อยู่เบื้องหลัง อย่างไรก็ตาม ท่านผู้อ่านพึงระลึกไว้ว่า โดยตัวของกราฟเองนั้น ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นมีการปรับตัวสูงขึ้นหรือลดลง เพราะกราฟนั้น เป็นเพียงสิ่งที่พิมพ์บนกระดาษแผ่นหนึ่งเท่านั้น แต่ด้วยการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิคที่ท่านจะได้อ่านต่อไป ทำให้ท่านมีเครื่องไม้เครื่องมือในการวิเคราะห์ ซึ่งจะเป็นการดึงเอาสิ่งที่ราคาหุ้นอยากจะบอกนั้นออกมาว่า ราคาหุ้นนั้นจะเคลื่อนตัวไปในทิศทางใด หรือสมควรแก่เวลาแล้วที่จะมีการเปลี่ยนแนวโน้มเกิดขึ้น