บทที่ 1

ทฤษฎีดาว (Dow Theory)

หลังจากที่ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงแนวคิดหรือความเชื่อ ที่เป็นจุดกำเนิดของการวิเคราะห์ทางเทคนิคแล้ว ตอนนี้อยากให้ท่านผู้อ่าน ลองมาทำความเข้าใจกับทฤษฎีทางเทคนิคยุคบุกเบิก ที่มีชื่อว่า Dow Theory ก่อนที่จะเข้าไปสู่กระบวนยุทธ์ในการวิเคราะห์ที่อยู่ในบทถัดไป ซึ่งมีสาระสำคัญที่ปรากฏในทฤษฎีนี้ ดังต่อไปนี้

1. ภาพโดยรวมของตลาด ได้ดูดซับเหตุการณ์ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเอาไว้แล้ว ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่ามันคล้ายกับแนวคิดเบื้องต้นที่เคยกล่าวไว้ ก็ขอตอบว่าใช่ครับ! แต่มีข้อแตกต่างอยู่นิดหนึ่งตรงที่ในกรณีนี้ จะพูดถึงภาพโดยรวมมากกว่าที่จะเป็นหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น

2. แนวโน้มขาขึ้น (uptrend) จะต้องมีลักษณะดังนี้ คือ จุดยอดและจุดก้นบึ้งที่เกิดขึ้นจะต้องอยู่สูงกว่าจุดยอดและจุดก้นบึ้งอันก่อนหน้า ซึ่งหลักการนี้เองที่เป็นที่มีของนิยามแนวโน้มออกเป็น 3 ช่วง คือ primary, secondary และ minor ซึ่งตัวเขาได้เปรียบระยะเวลาทั้ง 3 ส่วนข้างต้นกับคลื่นในทะเล ว่าเหมือนเป็นกระแสน้ำ (tide), คลื่น (wave) และ ฟองคลื่น (ripples) ตามลำดับ

ช่วง primary จะกินระยะเวลามากกว่า 1 ปีขึ้นไป ในขณะที่ช่วง secondary จะกินระยะเวลา 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน ช่วง secondary นี้ ถือได้ว่าเป็นช่วงระยะเวลาในการปรับตัว (correction) ใน primary trend ตัวอย่างเช่น ถ้าแนวโน้มเดิมในช่วง primary เป็นขาขึ้น การปรับตัวใน secondary ก็จะเป็นขาลง หรือหากแนวโน้มเดิมในช่วง primary เป็นขาลง การปรับตัวใน secondary ก็จะเป็นขาขึ้น ซึ่งว่ากันว่า โดยปกติการปรับตัวจะมีระยะ 1/3 หรือ 2/3 ของแนวโน้มเดิม ก่อนที่จะเริ่มวกตัวกลับเข้าสู่แนวโน้มเดิม (primary) แต่บ่อยครั้งมักจะเกิดขึ้นระดับ 50% ส่วนช่วง minor จะกินระยะเวลาน้อยกว่า 3 สัปดาห์ จึงถือว่าช่วง minor นี้เป็นเพียงแค่การแกว่งตัวของราคาที่เกิดขึ้นเท่านั้น

3. หากพิจารณาพฤติกรรมการลงทุนในแนวโน้มสำคัญหนึ่งๆ เช่น แนวโน้มขาขึ้น จะมีอยู่ 3 จังหวะ คือ

- จังหวะแรก เป็นจังหวะที่นักลงทุนที่เล็งเห็นการณ์ไกล เข้ามาช้อนซื้อหุ้น เพราะเห็นว่า ข่าวคราวเชิงลบได้ถูกดูดซับไปหมดแล้วในตลาด และมีโอกาสที่ข่าวสารเชิงบวกจะค่อยๆปรากฏออกมา ซึ่งจังหวะนี้เรียกว่า ช่วงเก็บของ (accumulation phase)

- จังหวะที่สอง เป็นจังหวะที่ผู้ลงทุน ที่เน้นการลงทุนตามแนวโน้มตลาด เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในตลาดโดยมีแรงหนุนจากข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจเชิงบวก ที่ปรากฏชัดมากขึ้น ส่งผลให้ราคาโดยรวมมีการปรับตัวสูงขึ้น

- จังหวะที่สาม เป็นจังหวะที่มีผู้เล่นอยู่ในตลาดมากยิ่งขึ้น ข่าวสารเชิงบวกจะหลั่งไหลกันออกมามากมาย การเก็งกำไรมีมากขึ้น ซึ่งสภาพที่เกิดขึ้นนี้ ถือได้ว่าเป็นการบอกให้นักลงทุนที่เคยเล็งการณ์ไกลจากในจังหวะแรก ควรเริ่มทยอยทำกำไรออกไป ก่อนที่จะมีแรงขายปรากฏออกมา ซึ่งจังหวะนี้เรียกว่าช่วงระบายของ (distribution phase)

4. นัยสำคัญของแนวโน้ม ควรที่จะยืนยันซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ในยุคของ Dow นั้นมีค่าเฉลี่ยที่ใช้เป็นตัววัดหรือดูภาพรวมอยู่ 2 ค่าคือ industrial average และ rail average ซึ่งเขาเห็นว่า สัญญาณการปรับตัวสูงขึ้นหรือปรับตัวลงของตลาด จะไม่มีนัยสำคัญ หาก industrial average และ rail average ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งตรงจุดนี้เองเป็นจุดแตกต่างระหว่าง Dow Theory และ Elliott Wave Theory (ซึ่งจะได้กล่าวถึงในบทหลังๆ) เพราะ Elliott Wave ไม่มีการพูดถึงการยืนยันทิศทางด้วยค่าเฉลี่ยอีกค่าหนึ่ง

5. ปริมาณการซื้อขาย เป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการยืนยันแนวโน้ม ตัวอย่างเช่น หากแนวโน้มของราคาเป็นขาขึ้น (uptrend) ปริมาณการซื้อขายควรจะเพิ่มขึ้นตาม ขณะที่ราคาขยับตัวขึ้น และปริมาณการซื้อขาย ควรจะน้อยลง หากราคามีการปรับตัวลง สภาพที่เกิดขึ้นเช่นนี้ จึงถือว่าแนวโน้มของราคายังคงเป็นขาขึ้นอยู่

ในทางกลับกัน หากแนวโน้มของราคาเป็นขาลง (downtrend) ปริมาณการซื้อขายควรจะเพิ่มขึ้น ตอนที่ราคามีการปรับตัวลง และปริมาณการซื้อขายควรจะน้อยลง ขณะที่ราคามีการดีดตัวขึ้น สภาพที่เกิดขึ้นเช่นนี้ จึงถือว่าแนวโน้มของราคายังคงเป็นขาลงอยู่

อย่างไรก็ตาม ปริมาณการซื้อขาย เป็นเพียงแค่ปัจจัยที่ใช้ประกอบการพิจารณา แต่สิ่งที่จะใช้เป็นตัวให้สัญญาณยังคงอิงอยู่กับราคา (โดยเฉพาะราคาปิด)

6. แนวโน้มจะยังคงถูกเชื่อว่ามีอยู่ จวบจนกระทั่งมีสัญญาณการเปลี่ยนแนวโน้มเกิดขึ้น หลักการนี้เป็นหลักพื้นฐานอีกประการของการวิเคราะห์ทางเทคนิค ที่ยังคงใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งนำไปสู่การศึกษาเรื่อง แนวรับแนวต้าน รูปแบบของราคา ตลอดจนเครื่องมือในการวิเคราะห์อื่นๆอีกมากมาย ในการบอกถึงโอกาสในการเปลี่ยนแนวโน้ม

เนื้อหาต่อไป : ประโยชน์ของการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิค

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : บทที่ 1 โหมโรง Prelude