บทที่ 17

การใช้ 9RSI

ในรูปที่ 17.2 เป็นการใช้ 9RSI (คือ RSI ที่ใช้วันในการคำนวณทุกๆ 9 วัน ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้นที่ผ่านมาจะใช้เป็น 14RSI แต่ตอนนี้ 9RSI ก็เพราะต้องการให้ทันใจวัยรุ่นขึ้นหน่อย) ซึ่งเป็น indicator ตัวแรกที่จะนำมาใช้ในเหล่ากระบวนยุทธ์นี้ ท่านผู้อ่านคงจะเห็นได้ว่า ขณะนี้ 9RSI กำลังอยู่ในแนวการสร้างยอดใหม่อยู่ เพราะสามารถข้ามยอดเดิมตามแนวเส้นไข่ปลาขึ้นมาได้ และกำลังเคลื่อนตัวตามขึ้นมา โดยมีเป้าหมายการทดสอบแนวต้านอยู่ที่หมายเลข 5 บน parallel line อย่างนี้เครื่องชี้ 9RSI ยังคงให้ความเป็นไปได้ที่ราคาจะเคลื่อนตัวขึ้นต่อไปใช่ไหม? คำตอบคือ ถูกแต่เพียงแค่ส่วนเดียว

ทำไมหรือครับ? ก็เพราะว่าการสรุปเพียงแค่นั้น ดูเหมือนว่าจะมองข้ามอะไรบางสิ่งบางอย่างไป เพราะแม้ว่า 9RSI จะยังคงให้ความเป็นไปได้ที่ราคาจะเคลื่อนตัวขึ้นต่อ แต่เราก็ไม่ควรที่จะประมาท เนื่องจากแนวต้านและขอบจำกัดของเครื่องชี้อยู่ไม่ไกลออกไปนัก นอกจากนี้ ระดับ RSI ในปัจจุบันก็ใกล้เคียงกับยอดเดิมที่เคยทำไว้แถวๆ 83-84 จุด (ตามแนว Horizontal Top) ประกอบกับระดับการวางตัวของเครื่องชี้อยู่ในเขต Overbought ด้วย ซึ่งอาจจะง่ายต่อการโดยเททำกำไรจากผู้อื่นได้ทุกเมื่อ ดังนั้น สิ่งที่ได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากความเป็นไปได้ที่ราคาหุ้นจะขยับตัวขึ้น ก็คือ การให้ความระมัดระวังมากขึ้น ตลอดจนการทยอยทำกำไรออกไปบ้างเพื่อลดความเสี่ยงลง

เหตุที่ใช้คำว่าทยอยทำกำไรออกไปบ้าง เพราะอย่างน้อยก็ได้กำไรในรูปตัวเงินกลับมาให้อุ่นใจไว้ก่อน และเป็นการลดความเสี่ยงลงบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องขายออกไปทั้งหมดตอนนี้ เพราะจริงๆแล้วเครื่องชี้ 9RSI นั้น ยังไม่มี sell signal ออกมา อีกทั้งช่วงในการขยับตัวของ 9RSI ก่อนที่จะถึงหมายเลข 5 นั้น แม้ว่าจะดูจากรูปว่าอยู่ไม่ห่างออกไปนัก แต่จริงๆแล้วกว่าการที่ 9RSI จะขยับตัวขึ้นจนเต็มช่องนั้น ราคาอาจจะสามารถขยับตัวขึ้นได้อีกมาก ซึ่งเป็นผลมาจากสูตรในการคิดคำนวณของ 9RSI (ไม่เชื่อก็ลองย้อนกลับไปพิจารณาสูตรดูซิครับ) ดังนั้นถ้าขายหมด ก็อาจต้องมานั่งบ่นภายหลังว่าไม่น่าขายออกไปเลย แต่ถ้าไม่ขายออกไปเลย อาจจะเกิดความเสี่ยงขึ้นมาได้ ซึ่งกระบวนยุทธ์ที่ 6 ในรูปที่ 17.3 จะเป็นตัวช่วยให้ความมั่นใจอีกทีว่า การทยอยทำกำไรออกไปบ้างในตอนนี้จะดีกว่า

เนื้อหาต่อไป : กระบวนยุทธ์ที่ 6

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : กระบวนยุทธ์แรก