การเริ่มต้นกระดานของโคน

โคนทำหน้าที่เป็นเสมือนนายทัพนายกองบงการการรบรองมาจากขุน ดังนั้นการเดินของโคนต้องพยายามหาทางปลอดที่สุด ให้โคนมีโอกาสเข้าไปก่อกวนฝ่ายตรงข้ามได้มากที่สุด แม้ฝ่ายตรงข้ามจะขึ้นเบี้ยสูงจนเม็ดต้องถูกฝ่ายตรงข้ามทำท่าจะกินเอาตามแบบการเดินเบี้ยสูง โคนจะทำหน้าที่คุ้มกันเม็ดอีกต่อหนึ่ง โดยวางไว้ที่ ค๗ และ ฉ๗ ตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งสองตัว นอกจากนี้เบี้ยดำ - ช๖ อาจขยับไป ช๕ เพื่อเปิดทางให้โคนยืนแทนหรือแทรกไปที่ ฉ๕ ในเวลาต่อมา เพื่อเป็นการคืบหน้า หากฝ่ายขาวมีจุดโหว่ที่ จ๔ ทางหนึ่งและถ้าทิ่มเบี้ยดำ - ญ๖ ไป ญ๕ แล้ว จะเป็นการป้องกันไม่ให้เบี้ยขาว - ช๓ กระเถิบขึ้นมาแทงโคนยามเมื่อฝ่ายดำจะวางโคนที่ ฉ๖

ทางเดินของโคน

การเริ่มต้นกระดานทางของม้า

การเริ่มต้นเดินของม้ามี ๓ ลักษณะ

๑. ม้าเทียมรถ

เป็นการเดินโดยกำหนดให้ม้าทั้งคู่มาอยู่เคียงกัน ที่ม้าดำ - ข๘ ไป ง๗ และม้าดำ - ช๘ ไป จ๗ และม้าดำ - จ๗ อาจเดินต่อเพื่อป้องกันฝ่ายตรงข้ามที่ ค๖ เป็นการป้องกันการทิ่มของเม็ดขาวได้เป็นอย่างดี ถ้าม้าดำ - จ๗ ขึ้นมาวางที่ ค๖ เรียกว่า "ม้าถ่างแดก"

ม้าเทียมรถ

 

๒. ม้าผูก

เริ่มจากขึ้นด้วยม้าดำ - ข๒ ไป ค๖ และม้าดำ-ช๘ ไป จ๗ เป็นการผูกประสานกันระหว่างม้าทั้งสอง การขึ้นเช่นนี้ทำให้มีโอกาสทำการได้เต็มที่เมื่อได้ทาง เพราะม้าดำ - ค๖ อาจป้องกันเบี้ยขาว - ก๓ ที่จะมา ก๕ ทำให้เรือดำ - ก๘ เดินได้ไม่ถนัด ฝ่ายดำจะทำการไม่เต็มที่ เพราะต้องระวังเบี้ยดำ - ก๖ หากม้าดำยืนแบบนี้ เบี้ยขาว - ข๓ จะขึ้นมาที่ ข๔ เพื่อสนับสนุนเบี้ยขาว - ก๕ ไม่ได้ เพราะอาจเสียเปรียบเมื่อทำลายกัน

ม้าผูก

 

๓. ม้าขโมย

เกิดขึ้นเมื่อม้าดำ - ข๘ ไป ง๗ , ฝ่ายเบี้ยขาว - จ๓ ไป จ๔ , เบี้ยดำ - ง๖ ไป ง๕ , เบี้ยขาว - ฉ๓ ไป ฉ๔ เมื่อเอาม้าดำไปวางที่ ค๕ จะเข้า ๒ ลักษณะ คือม้าดำกินสองเบี้ยขาว - จ๔ หรือกินเบี้ยขาว - ข๓ แล้วคร่อมเรือกับโคนเอาไว้

ในกรณีเช่นนี้ส่วนใหญ่ฝ่ายขาวจะเอาเบี้ยขาว - จ๔ กินเบี้ยดำ - ง๕ แล้วกินเบี้ยดำ - จ๖ ต่อ เพื่อเป็นเบี้ยหงาย แล้วขยับเบี้ยขาว - ฉ๔ ไป ฉ๕ เพื่อผูกรักษากันไว้ปล่อยให้ม้าดำ - ค๕ กินเบี้ยขาว-ข๓ แล้วกินเรือขาว - ก๑ ต่อไป จากนั้นฝ่ายขาวจึงเดินโคนขาว - ค๑ ไป ข๒ ม้าดำก็หมดฤทธิ์ทันที

กระบวนนี้หมากขาวจะได้เบี้ยหงายทดแทนการสูญเสียเรือ และเบี้ยหงายจะทำหน้าที่รับการบุก ของเรือและหมากอื่นๆฝ่ายดำได้เช่นกัน

ม้าขโมย
การเริ่มต้นกระดานทางของเรือ-ขุน next