กลหมากจากเพลงยาว
รูปไล่หมากจากเพลงยาว จะเห็นว่ากลอนได้ให้รูปแบบการไล่หมากแบบต่างๆ รวมทั้งสิ้น ๑๒ แบบ ส่วนใหญ่มีชื่อกำกับไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ดังต่อไปนี้
แบบที่ ๑
@ อนึ่ง หมากหนีมีเบี้ย เขี่ยวเขี้ยวขับ |
ติดกำกับอยู่กับขุนไม่ห่างหัน |
ข้างหมากไล่รุกเข้ารุมรัน |
สามเบี้ยกันกั้นสังกัดสังเกตจำ |
หมากไล่สามหนีเอาหนึ่งคำนึงนับ |
ตามบังคับหกสิบสี่เป็นที่ขำ |
โดยกำหนดบทระเบียบเทียบประจำ |
ถ้าเกินกำหนดกล่าวเสมอกัน |
แบบที่ ๒
@ อีก หมากไล่หมากหนี ดีทั้งคู่ |
มีเรืออยู่คนละลำปล้ำขบขัน |
ข้างหมากไล่ได้เบี้ยช่วยบังกัน |
ไขว้ผูกพันเบื้องหลังพอบังสกนธ์ |
หมากรูปนี้มักจะมีอยู่บ่อยๆ |
จงคิดค่อยดูอย่าเฟือนเลือนฉงน |
ทั้งเบี้ยเทียมเทียบถูกผูกจำนน |
นิยมผลหกสิบสี่ที่สัญญา |
แม้ไม่จนพ้นคำนวนคำนึงเสนอ |
ก็เสมอเหมือนตำหรับตำราว่า |
อย่าเลินเล่อเผลอพล้ำให้พลั้งตา |
จงไตร่ตราตรึกตริดำริตรอง |
แบบที่ ๓ กลหอกข้างแคร่
@ อีก ชื่อมีชี้ชัดถนัดแน่ |
เรียกกล หอกข้างแคร่ สำเนาสนอง |
มีเบี้ยเดียวเลี้ยวลดบทละบอง |
ยกย้ายย่องแอบขุนจุนประจำ |
พวกหมากไล่ได้ท่าก็ฝ่าแฝง |
โคนทะแยงเยื้องย่างสามขุมขำ |
ผูกกระชับกับเบี้ยคลอเคลียคลำ |
รวมรุมรำรุกรบตลบไป |
ไล่ไม่จนพ้นพิกัดบัญญัติยก |
เกินเกณฑ์หกสิบสี่สิ้นสงสัย |
ทั้งสองข้างต่างแต้มไม่ต่ำไกล |
ก็ยอมให้สมเสมอเสมือนกัน |
แบบที่ ๔ กลจับม้าอุประการ
@ อีก จับ ม้าอุประการ ประกอบชอบ |
แบบระบอบหมากหนีท่วงทีขัน |
มีม้ามิ่งวิ่งหลบไม่รบรัน |
ข้างหนึ่งนั้นสองเบี้ยแซกเซียซุน |
กับโคนหนึ่งขึงท่าโถมสมทบ |
ม้าเลี้ยวหลบหลีกแฉลบเข้าแอบขุน |
ต่างคุมท่าหาทางจะรุกรุน |
เมียงมุ่งมุ่นมองขมักเขม้นตา |
มีเกณฑ์อย่างอย่างกำหนดหกสิบสี่ |
แม้หมากหนีไม่พ้นก็จนท่า |
ตามพิกัดจัดไว้ในตำรา |
พึงวิจารณาให้เจนใจ |
แบบที่ ๕ กลลูกติดแม่
@ อีก กล ลูกติดแม่ แน่กำหนด |
โดยแบบบทเบื้องบรรพ์ธิบายไข |
ข้างหมากหนีมีเรือเผื่อแฝงไป |
กับเบี้ยหงายวางไว้จังหวะกัน |
ข้างหมากไล่ได้โคนกับเบี้ยหงาย |
แลเรือรายรุกเรียงเคียงกระสัน |
ไล่ไม่จนพ้นหกสิบสี่พลัน |
เพราะโคนกันขุนกุมคุมเชิงชน |
แบบที่ ๖ กลหณุมานอาสา
@ หณุมานอาสา ท่านว่าไว้ |
ข้างหมากไล่เรือกับม้าอย่าฉงน |
อีกเบี้ยหงายรายคุมโคนระคน |
ม้าผจญโจมบุกเข้ารุกรัน |
ข้างหมากหนีมีเรือคอยรารับ |
โคนกำกับเคียงข้างไม่ห่างหัน |
ต่างประชิดติดต่อไม่รอกัน |
กำหนดนั้นหกสิบสี่มีอัตรา |