การเริ่มต้นกระดานการขึ้นเบี้ย
๑. การขึ้นเบี้ยข้างกระดานทั้งสองข้าง เรียกว่า "กระแตแยกเขี้ยว"
ผลที่ได้รับคือ หากฝ่ายดำเผลอตัวไม่ได้ผูกเรือดำ-ญ๘ ไว้ มักต้องเสียเรือให้ฝ่ายตรงข้าม เพราะเบี้ยขาว - ญ๔ กินเบี้ยดำ - ช๕ หากใช้เบี้ยดำ - ญ๖ กินลงมาจะทำให้เรือฝ่ายดำขาดทันที เรือขาว - ญ๑ จะกินเรือดำ - ญ๘ ได้อย่างสะดวก จะทำให้ฝ่ายดำต้องเสียเปรียบ

แต่หมากเช่นนี้ไม่ดีอยู่อย่างหนึ่ง คือ เบี้ยขาว ก๔ และ ญ๔ มักจะขาดได้ง่ายต้องหาหมากอื่นมาผูกอีกต่อหนึ่ง เป็นการเสียเปรียบอยู่บ้าง ทำให้หมากติดทำการรบได้ไม่เต็มที่เท่ากับเป็นการต่อให้อีกฝ่าย
๒. การตั้งรับเบี้ย โดยให้ฝ่ายหลวมตัวกระทำการเข้ามา
ปล่อยให้ฝ่ายขาวกระทำไปจนถึงเบี้ยขาว - ญ๕ และต้องขึ้นเบี้ยข้างกระดาน คือเบี้ยขาว - ช๓ ไป ช๔ ด้วย ฝ่ายตั้งรับคือฝ่ายดำจะอยู่ในแนวเฉยๆ แต่เลือกเบี้ยดำ - ฉ๖ ไป ฉ๕ และเบี้ยดำ - ค๖ กับ ง๖ ไป ค๕ กับ ง๕ ตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า "สิงโตล่อแก้ว"

จะเห็นได้ว่าเบี้ยขาว - ญ๕ จะกินเบี้ยดำ - ช๖ หรือเบี้ยขาว - ช๔ จะกินเบี้ยดำ - ฉ๕ ได้ทั้งสองแห่ง หากเกิดการทำลายกันฝ่ายขาวเป็นผู้กระทำก่อนทางฝ่ายดำจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะเมื่อเบี้ยขาว - ญ๕ กินเบี้ยดำ - ช๖ จะทำให้เบี้ยดำ - ญ๖ ลอยทันที ทั้งม้าและเรือดำข้างหลัง ก็จะเจอปัญหาไปด้วยทันที ในทางกลับกันเบี้ยดำเริ่มกระทำก่อน เบี้ยดำ - ช๖ กินเบี้ยขาว - ญ๕ ทำให้เบี้ยขาว - ช๔ ต้องกินเบี้ยดำ - ญ๕ แทนที่ และจะกลายเป็นหมากลอยอยู่ ต้องเดือดร้อนหาหมากตัวอื่นเข้ามาผูกป้องกันโดยเฉพาะ
๓. การขึ้นเบี้ยสูง
เกิดขึ้นเมื่อฝ่ายขาวแทงเบี้ยขาว - จ๓ เดินไปถึง จ๕ ฝ่ายดำจะมีเบี้ยรับอยู่ที่ ฉ๖ และมีเม็ดดำ - ง๖ กรณีเช่นนี้จะทำให้ฝ่ายดำอยู่ในสภาพที่อึดอัด ยากแก่การดำเนินการรบได้เต็มที่ เพราะต้องระวังทั้งเม็ดและเบี้ยที่อาจเสียให้ฝ่ายตรงข้าม แม้ฝ่ายขาวไม่กินก็ยังได้เปรียบทางหมากที่คุมเชิงอยู่สูง หมากฝ่ายดำตัวอื่นๆจะเดินได้ลำบากทุกตัว เมื่อเริ่มกระดานให้ระวังหมากเบี้ยสูงนี้ให้ดีอาจส่งผลแพ้ได้ง่ายๆ

หมากลักษณะนี้ หากฝ่ายขาวมีความสุขุมรอบคอบเพียงพอจะไม่กล้าทำลายฝ่ายดำก่อน เพราะกระบวนหมากนี้เป็นฝ่ายได้เปรียบแน่นอน หากกินเบี้ยเสียแล้วโคนฝ่ายดำจะเดินเข้าแทนที่ ฉ๖ ทันที หรืออีกลักษณะคือถูกบังคับ โดยมีม้าที่ประจำอยู่ ง๗ ตัวหนึ่ง ม้าดำขวาอีกตัวย้ายตัวเองจาก จ๗ ไป ค๖ หรือ ช๖ เบี้ยขาว - จ๕ จะไม่มีความหมายทันทีต้องกินเม็ดหรือเบี้ย แม้จะมีตัวผูกคือเบี้ยขาว - ง๔ และ ฉ๔ รวมทั้งม้าขาว - ฉ๓ แต่ก็มีกำลังพลน้อยกว่าฝ่ายดำ จึงจำต้องชิงจังหวะกินตัวใดๆก่อนที่ฝ่ายดำจะเริ่มกระทำ