ทฤษฎีการไล่จนและไม่จน
ทฤษฎีนี้ใช้พิจารณาสำหรับการไล่ กรณีที่ฝ่านหนีเหลือขุนเพียงตัวเดียว เพื่อให้ทราบว่ากำลังหมากที่มีอยู่ของฝ่ายใล่จะสามารถทำจนได้หรือไม่ เนื่องจากการไล่เป็นการใช้อำนาจการกินของหมากฝ่ายไล่บีบตาเดินและคุกคามที่จะกินขุนคู่ต่อสู้ จนกระทั่งไม่มีทางหนี ดังนั้นการจะรุกจนได้หรือไม่จึงขึ้นอยู่กับอำนาจการกินของหมากทั้งหมดที่ฝ่ายไล่มีอยู่ว่ามีเท่าใด ถ้ามีน้อยการบีบบังคับทำได้ยาก โอกาสที่จะไล่จนก็น้อยลงไป อำนาจการกินรวมถ้ายิ่งมีมากการไล่จะทำได้ง่าย โอกาสรุกจนก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
อำนาจการกินของหมากจะนำมาพิจารณาเฉพาะตาที่ใช้ในการบับบังคับขุนฝ่ายหนี อำนาจการกินส่วนเกินจะตัดทิ้งไป เช่น
ม้า มีตากิน ๘ ตา แต่อำนาจดังกล่าวกระจายออกไป ตากินที่ใช้ในการบีบขุนคู่ต่อสู้แต่ละครั้งมีไม่เกิน ๒ ตา ม้าจึงมีความสำคัญหรืออำนาจในการไล่น้อยกว่าโคนที่แม้จะมีตากินรวมน้อยกว่า แต่อาจใช้ประโยชน์เพื่อการไล่จากตากินด้านหน้าได้มากถึง ๓ ตา
เบี้ย จะถูกนำมาพิจารณาเฉพาะเบี้ยหงายเท่านั้น เพราะเป็นสถานะที่หมากตัวนี้มีอำนาจได้สูงสุด
โคน ๑ ตัว อำนาจการไล่มีค่าเท่ากับเบี้ยเทียม ๑ คู่ แม้ตากินรวมของโคนจะมีน้อยกว่าก็ตาม แต่อำนาจสำหรับการบีบหรือรุกจนมีเท่าเทียมกัน เช่น โคน ๑ ตัวกับเบี้ย ๑ ตัว จะสามารถไล่จนรุกจนได้เช่นเดียวกับเบี้ยเทียม ๓ ตัว เป็นต้น ดังนั้นจึงกำหนดให้ใช้เบี้ยเทียม ๒ ตัวแทนโคน ๑ ตัวในกรณีที่ฝ่ายใล่มีโคน เพื่อให้ผลที่ได้เป็นไปตามทฤษฎีนี้ สำหรับเหตุผลนั้นดูในภาคขยายเพิ่มเติม
จากกระดานหมากรุกที่มีจำนวนตาในแนวตั้งและแนวนอนด้านละ ๘ ตา (รวม ๖๔ ตา) การพิจารณาตามทฤษฎีนี้จะใช้ตาในแนวตั้ง ๒ แถว (๑๖ ตา) คือ แถวที่ ๑ และ ๒ ตามรูป
ขั้นแรก นำขุนของฝ่ายไล่ (ในที่นี้ให้เป็นฝ่ายขาว) วางไว้บนตาแรกของแถวที่ ๑ ซึ่งจะมีตากินรวม ๓ ตา
จากนั้นนำหมากที่ฝ่ายไล่มีอยู่ทั้งหมดมาวางไว้บนแถวเดียวกับขุนคือแถวที่ ๑ โดยจัดให้ตากินให้มากที่สุด สำหรับเบี้ยจะต้องวางตามสภาพที่เป็นจริงคือ ถ้าเป็นเบี้ยเทียมก็วางชิดกันได้ แต่ถ้าเป็นเบี้ยผูกจะต้องวางห่างในลักษณะเว้นตาเสมอ