คำนำหมากรุกไทย
ในกระบวนกีฬาในร่มแล้ว หมากรุกเป็นกีฬาในร่มประเภทหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้สมองเพื่อขบคิดการต่อสู้ของตัวหมากในกระดานเป็นอย่างมาก ต้องรู้จักหลักการรับและหลักการรุกอย่างพร้อมมูล จนมีคำกล่าวว่า "ผู้ที่ต้องการจะให้สมองของตนแจ่มใสและรู้จักมีความอดทนแล้วต้องเล่นหมากรุกไทยจึงจะดีที่สุด"
คำพูดดังกล่าวข้างต้นมีความเป็นจริงอยู่ไม่น้อย เพราะการเล่นหมากรุกไทยนั้นถ้าหากว่าไม่มีการพนันขันต่อระหว่างบุคคลแล้ว จะเห็นได้ว่าบางแห่งจะมีคนหลายคนช่วยกันรุมคนๆเดียว ดังนั้นถ้าคนแต่ผู้เดียวจำเป็นจะต้องรองรับความสามารถของหลายต่อหลายคนเช่นนี้ นอกจากจะต้องใช้สมาธิในการเล่นหมากรุกในกระดานแล้ว บางครั้งก็จะถูกเพื่อนเยาะเย้ยเอาบ้างเมื่อเดินผิด หรือในบางครั้งถ้าเล่นหมากยืดหยุ่นประเภทจับตัวแล้วไม่ยอมเดินไปตามทางของตัวหมากรุก เปลี่ยนเล่นตัวอื่นแทนเมื่อเห็นว่าตนจะเสียเปรียบแก่อีกฝ่ายหนึ่ง และบางครั้งก็ถูกโห่ฮาป่าเอาบ้างก็มี นี่แหละเป็นข้อสนับสนุนที่ว่าการเล่นหมากรุกไทยทำให้คนเกิดความอดทนขึ้น และหมากรุกไทยก็มีส่วนช่วยในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
ผู้ที่เล่นหมากรุกนั้น ไม่ใช่หมายความเดินได้ถูกต้องตามแนวทางของหมากรุกแต่ละตัวเท่านั้น ต้องมีการเตรียมพร้อม เผื่อว่าถูกอีกฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำก็รีบหาช่องทางเอาเปรียบฝ่ายตรงข้ามให้จงได้เพื่อชัยชนะ ในตอนปลายกระดานเป็นประการสำคัญ หมากรุกไทยจึงเปรียบเสมือนการรบในสนามรบด้วยประการ ฉะนี้
จากการค้นประวัติความเป็นมาของหมากรุก คนส่วนใหญ่จะกล่าวว่า ไทยเราได้แบบอย่างมาจากอินเดีย แล้วจึงดัดแปลงมาเป็นหมากรุกไทย แต่ก็ไม่ปรากฏว่าการเล่นหมากรุกของอินเดียจะมีปรากฏ และเป็นที่เลื่องลือของคนทั่วไป แต่ก็อาจจะมีความจริงอยู่บ้างเพราะอารยธรรมส่วนใหญ่ของไทยได้มาจากอินเดียเป็นเค้ามูล ดังนั้นการที่จะกล่าวว่า หมากรุกไทยได้แบบอย่างมาจากอินเดียก็อาจจะมีเค้ามูลเป็นจริงอยู่บ้าง แต่คนไทยก็ได้ดัดแปลงเอามาใช้เฉพาะและเหมาะสมกับลักษณะของคนไทยหลายประการ คือ
๑. แม่ทัพของไทยเป็นนักรบที่แกล้วกล้าสามารถ และมักจะเป็นผู้นำในการรบอยู่เสมอ ถ้าพิจารณาตามสภาพของขุนในหมากรุกไทยแล้ว จะเห็นได้ว่าขุนของหมากรุกไทยต้องเดินบงการรบอยู่ตลอดทั้งกระดาน ไม่เหมือนกับขุนในหมากรุกของชาติอื่นๆ เพราะในกระบวนการรบของหมากรุกชาติอื่นนั้น เช่น หมากรุกจีนขุนมีตาเดินได้เพียง ๙ ตาในกรอบเท่านั้น รวมทั้งหมากรุกฝรั่งด้วย
๒. คนไทยนับถือว่าขุนหรือองค์พระมหากษัตริย์จอมทัพนั้นเป็นเทพยดา ดังนั้นจีงต้องมีองครักษ์ประจำอยู่เสมอ และจะมีองครักษ์พิเศษซึ่งในหมากรุกไทยเรียกว่า "เม็ด"เพียงคนเดียวเท่านั้น ส่วนในหมากรุกจีนต้องมีองครักษ์ถึง ๒ คน แสดงให้เห็นว่ามีความฟุ้งเฟ้อมากกว่าจอมทัพของไทย
๓. ตัวหมากรุกของไทยทุกตัวสามารถเดินได้ตลอดทั้งกระดาน ดังนั้นการวางแผนการรบ จึงต้องวางแผนการตลอดทั่วทั้งกระดานและทุกตัวหมาก มิฉะนั้นหากว่าเกิดการผิดพลาดขึ้นแล้วก็จะทำให้พ่ายแพ้แก่ฝ่ายตรงข้ามได้ง่ายที่สุด
๔. ขุนของหมากรุกไทยไม่ต้องระวังว่าจะอยู่ตรงกันกับขุนของอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะขุนของหมากรุกจีนสามารถที่จะกั้นแนวทางเดินของหมากรุกฝ่ายตรงข้ามได้ ดังนั้นถ้าหากว่านักเดินหมากรุกผู้มีความสามารถในการเดินหมากรุกจีนแล้วเพียงเอาขุนตั้งสกัดไว้ อีกฝ่ายหนึ่งก็จะหมดแนวทางเดินไป อีกฝ่ายหนึ่งเหลือตาเดินเป็นสามตาเท่านั้นโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีตัวปิดบังเบื้องหน้าเอาไว้
๕. หมากรุกของไทยทุกตัวหมากจะต้องเดินในช่องไม่ได้เดินอยู่บนมุมเช่นเดียวกับหมากรุกจีน