กติกาการแข่งขันทั่วไป

๑. เมื่อเริ่มการแข่งขันต้องเสี่ยงทายผู้ที่จะเดินก่อน โดยมักใช้เบี้ยในกระดานแล้วกำไว้ในมือของกรรมการ ให้ผู้เล่นทั้งสองทายจำนวนหมากเป็นคู่หรือคี่ ผู้ทายถูกจะเป็นฝ่ายเดินก่อน การทายหมากในมือผุ้เริ่มเดินก่อนย่อมได้เปรียบในการวางแผนหมาก ที่ผู้เล่นตามต้องเดินตามแนวหมากของฝ่ายเดินก่อนอย่างเลี่ยงไม่ได้และมักเป็นฝ่ายตั้งรับและเสียเปรียบตลอดเวลา ต้องใช้ฝีมือเพื่อพลิกเกมมากกว่าอีกฝ่ายในช่วงต้นกระดาน

๒. กรรมการจับเวลาในการเดินหมากแต่ละครั้งเพียง ๒ นาที เป็นหน้าที่ของกรรมการที่ต้องทำการเตือนผู้ที่กำลังอยู่ในระหว่างแข่งขันให้เดินหมากตามเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นกรรมการอาจจับเป็นฝ่ายแพ้ได้

๓. เมื่อเกิดการได้เปรียบและเสียเปรียบ ฝ่ายเสียเปรียบขอนับศักดิ์กระดานหรือเมื่อเบี้ยของทั้งสองฝ่ายหงายจนหมดแล้วจึงนับศักดิ์หมากได้ โดยกรรมการจะทำหน้าที่เป็นผู้นับศักดิ์

๔. การแข่งจะแพ้หรือชนะต้องแล้วแต่กติกาที่ตั้งไว้ อาจเป็นตัดสินในกระดานเดียวหรือสองกระดานก็ได้ คือหากเป็นตัดสินแบบกระดานเดียวฝ่ายใดชนะก็ถือว่าชนะทันที หากเป็นแบบสองกระดานถือว่า

- ผู้ชนะกระดานแรกได้เปรียบ

- ถ้ากระดานที่สองเสมอกัน ผู้ชนะเมื่อกระดานแรกก็เป็นผู้ชนะทันที

- ถ้ากระดานสองฝ่ายที่แพ้เมื่อกระดานแรกเป็นฝ่ายชนะ จะเป็นชนะ ๑ ต่อ ๑ ต้องดูผลกระดานที่สาม

--- ฝ่ายใดชนะในกระดานที่สามก็ถือเป็นผู้ชนะทันที

--- หากกระดานที่สามเสมอ ให้แข่งกระดานต่อไปจนกว่าจะมีฝ่ายใดชนะก็นับเป็นชนะทันที

หากการแข่งขันในกระดานแรกและกระดานที่สองเสมอกัน ให้แข่งกระดานต่อไปจนมีผู้ชนะให้ถือว่าชนะทันที

๕. ในการแข่งขันจะไม่มีการใช้สูตรเม็ดเด็ดขาด หมายถึงการให้เม็ดเดินขึ้นในแนวตรงคืบหน้าในครั้งแรกได้ ๒ ตา ซึ่งก็คือต้องเดินเม็ดแบบเฉียงตามแบบฉบับเดิมของเม็ดเอง ซึ่งต้องเสียเวลาเดินทางถึงสองครั้งในการร่นเวลา แต่ในการแข่งขันถือว่าทุกคนต้องแสดงฝีมือของตนอย่างเต็มที่จึงไม่สมควรใช้สูตรเม็ดที่มักใช้กันตามที่ต่างๆโดยปกติ

(ความเป็นจริงผู้มีฝีมือจริง มักไม่ยอมลดตัวมาใช้สูตรเม็ดเช่นกัน)

๖. หากมีการเลิกราลงกลางกระดานโดยฝ่ายใดยอมแพ้ กรรมการมีหน้าที่ต้องแจ้งทางเลขานุการการแข่งขันทราบ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชนะเข้ารอบต่อไป เพื่อนัดหมายการแข่งขันในครั้งต่อๆไปจนจบเส้นทาง

๗. เมื่อผู้เล่นแตะต้องตัวหมากตัวใดแล้วจะต้องเดินหมากตัวนั้นจะเปลี่ยนเดินหมากอื่นไม่ได้เป็นอันขาดเพราะจะมีการได้เปรียบเสียเปรียบ อีกฝ่ายเห็นจับตัวแล้วเป็นผู้เดินไวจะขยับตัวเดินต่อฝ่ายที่กำลังจะเดินจะรู้แต้มคูตาที่สำคัญของฝ่ายตรงข้ามได้ทันที มักจะเป็นลูกเล่นการล่อหลอกที่ไม่สมควร จึงกำหนดเอาไว้ให้เดินหมากตัวที่แตะต้องแล้วเท่านั้น

๘. ในการแข่งขันเมื่อจับวางหมากตัวใดลงจนตัวหมากกระทบกับกระดานผู้วางจะไม่สามารถเปลี่ยนตำแหน่งการวางของตัวหมากตัวนั้นได้อีกต้องปล่อยเลยตามเลยเพราะถือว่าเดินไปแล้วเว้นกรณีที่เดินผิดแบบหมาก เช่น เดินโคนแบบถอยหลังมาตรงๆ เดินเรือข้ามแนวที่อยู่จริงหรือม้ากระโดดไกลเกินที่วิธีเดินหมากบังคับ

ข้อ ๗ และข้อ ๘ ภาษาหมากรุกเรียกว่า "จับตัววางตาย" คือแตะตัวไหนวางตรงไหนห้ามยึกยักแก้ไขเป็น "หมากชักว่าว" ซึ่งเป็นที่ตำหนิของนักเล่นหมากรุกด้วยกัน ฝึกให้เป็นนิสัยจะสง่างามในการเล่น

กติกาการแข่งขันหมากรุกไทยของสมาคมกีฬาไทย next