หลักการนับศักดิ์ของหมากรุกไทย

หลักการนับจะนับได้เมื่อฝ่ายเสียเปรียบขอนับศักดิ์หมาก โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างไม่มีเบี้ยที่ยังคว่ำเหลืออยู่แม้แต่ตัวเดียว คือหมายความว่า ทั้งสองฝ่ายไม่มีเบี้ยเลย หรือต่างก็มีแต่เบี้ยหงายแล้ว

หลักการนับศักดิ์ของหมากมี ๒ ลักษณะ คือ

ศักดิ์กระดาน

หมายถึงฝ่ายเสียเปรียบมีจำนวนตัวน้อยกว่า หากว่าเล่นต่อไปก็มีแต่ทางแพ้อีกฝ่ายแน่นอน จึงได้ขอนับศักดิ์กระดานทันที จะเริ่มนับตั้งแต่ ๑ ถึง ๖๔ เมื่อครบ ๖๔ แล้ว ฝ่ายที่ได้เปรียบไม่สามารถทำให้ฝ่ายเป็นรองพ่ายแพ้หรือจน ให้ถือว่าหมากกระดานนั้นเสมอกัน

ศักดิ์หมาก

เริ่มนับเมื่อฝ่ายเป็นรองเหลือขุนเพียงตัวเดียว ฝ่ายได้เปรียบจะมีหมากกี่ตัวก็ได้ เวลานับดูหมากที่เหลือของฝ่ายได้เปรียบว่ามีหมากไหนเหลืออยู่ แล้วนับโดยดูตามลำดับ เรือ - ม้า - โคน - เม็ด

การนับศักดิ์ของหมาก หากว่าได้เริ่มนับศักดิ์กระดานมาแล้ว และฝ่ายเป็นรองต้องเสียหมากของตนจนหมดเหลือแต่เพียงขุนตัวเดียวเมื่อใด ไม่ต้องนับศักดิ์กระดานต่อจนครบ ๖๔ ให้เริ่มนับศักดิ์หมากทันที

การนับศักดิ์หมาก หากเริ่มนับเมื่อใดให้นับจำนวนตัวหมากที่เหลืออยู่ในกระดานทั้งหมด ของทั้งสองฝ่ายก่อนแล้วจึงดำเนินการนับต่อไป เช่น หมากฝ่ายได้เปรียบเหลือ ขุน ๑ - โคน ๑ - ม้า ๑ - เรือ ๑ - เบี้ย ๒ รวมเป็น ๖ ให้นับมารวมกับขุนฝ่ายเสียเปรียบอีก ๑ รวมเป็น ๗ ให้เริ่มนับที่ ๘ ต่อทันที โดยนับตามศักดิ์เรือ ๑ ลำ ที่ศักดิ์ ๑๖ ตา เมื่อเดินและนับครบ ๑๖ ตาแล้ว ฝ่ายเสียเปรียบยังเดินได้ต่อไม่จน ให้ถือเป็นเสมอกันในกระดานนั้น

บทสรุป ปลายกระดาน

อับ

หมายความว่า ฝ่ายได้เปรียบทำการไล่อีกฝ่ายจนไม่มีทางเดินเหลือแล้ว แต่ไม่ได้ทำการรุกในตาสุดท้าย และหมากฝ่ายเป็นรองที่เหลืออยู่ก็ไม่สามารถเดินได้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายเป็นรองหมดสิ้นหนทางเดิน จะเหลือก็คงเป็นเบี้ยคว่ำอย่างเดียวเท่านั้น และเบี้ยคว่ำก็หมดทางที่จะเดินอีก เมื่อขุนไม่มีทางเดินต่อไป โดยที่ฝ่ายได้เปรียบไม่ได้ทำการรุก เช่นนี้เรียกว่า อับ และถือว่ากระดานนั้นเสมอกัน

จน

เกิดขึ้นเมื่อฝ่ายได้เปรียบทำการรุกอีกฝ่าย และฝ่ายเสียเปรียบไม่สามารถขยับขุนของตน เดินต่อไปได้จากจุดที่โดนรุกนั้น เนื่องจากโดนฝ่ายตรงข้ามกักกันจนหมด หรืออาจเพราะหมากฝ่ายตนกักตัวเองไว้เอง เช่นนี้ถือว่าฝ่ายที่ถูกรุก เป็นฝ่ายพ่ายแพ้

เสมอ

เกิดได้ ๒ ลักษณะ คือ

- เสมอเพราะอับ

- เสมอจากการนับศักดิ์ คือ ศักดิ์กระดาน หรือ ศักดิ์หมาก