ทักษะเบื้องต้น ของการเล่นซอฟบอล

ทักษะเบื้องต้น และ ทักษะเป็นทีม

การรับลูกบอล

หลักของการรับลูกบอล ซึ่งผู้รับทุกคนจะต้องพิจารณา 3 ประการคือ

1). ตาจ้องจับที่ลูกบอล ผู้รับบอลต้องระวังอยู่ตลอดเวลาว่า ลูกบอลจะมาทางซ้ายหรือขวา ระดับเอว อกหรือข้ามศีรษะ ตลอดจนลักษณะ ของการกระดอนของลูกบอล

2). ผ่อนทุกส่วนของร่างกายให้สบายไม่เกร็ง แต่ในขณะเดียวกันจะต้องอยู่ในสภาพเตรียมพร้อม "ยืนเท้าเป็น" ตลอดเวลา

3). เคลื่อนเข้าสกัดทิศทางของลูกบอลที่พุ่งเข้ามาอย่างรวดเร็ว สิ่งแรกที่จะต้องคิดและทำ ก็คือ การวิ่งเข้าสกัด ทิศทางของลูกบอล จะทำให้การรับบอลได้ง่ายยิ่งขึ้น

กลไกของร่างกาย

นิ้วมือ

ต้องมีส่วนงอโค้ง ( curve ) และผ่อนตามสบาย จนกว่าจะได้สัมผัสลูกบอลแล้ว เวลาจับต้องกระทำ อย่างมั่นคง ผ่อนตามแรง และรับอยู่ด้านหน้าของลำตัว

มุมของมือ

แตกต่างออกไป ตามระดับของลูกบอลที่พุ่งมาหาขณะที่จะรับ เช่น อาจกลิ้งมากับพื้น หรือ กระดอนมา พุ่งมาในอากาศเป็นเส้นตรง ลอยมาเหนือศีรษะ ขว้างมาต่ำกว่าเอว แบบใดแบบหนึ่ง

การรับบอลที่มาระดับศีรษะถึงระดับเอว ถ้าพุ่งตรงมาข้างหน้า ให้ยกมือทั้งสองขึ้น หันนิ้วมือขึ้นข้างบน หันฝ่ามือออก ดักลูกบอล ส่วนนิ้วหัวแม่มือทั้งสองอยู่ใกล้กัน เมื่อรับบอลได้แล้ว ให้ผ่อนตามความแรง เข้าหาตัว พร้อมกับมือข้างที่ไม่สวมถุงที่ช่วยประคองนั้น ประกบ และ จับบอลไว้ พร้อมที่จะขว้างได้อีกต่อไป

การรับลูกบอลที่มาระดับใต้เอวถึงระดับเข่า ถ้าบอลลอยมาหาต่ำกว่าระดับเอว ให้หงายมือ หันปลายนิ้ว ลงสู่พื้น พร้อมกับก้าวเข้าหาบอล นิ้วก้อยทั้งสองงออยู่ชิดกัน ใช้มือข้างที่สวมถุงรับบอล และมือ ที่ไม่ได้สวมถุง ช่วยประคอง และตะปบเอาไว้ทันทีหลังจากบอลมาเข้ามือข้างที่มีถุงแล้ว เพื่อเตรียมพร้อม ที่จะขว้างส่งไปยังจุดที่ต้องการ ได้ทันที

การรับลูกโด่ง (pop-up)

เมื่อบอลลอยขึ้นจนถึงจุดสูงสุด แล้วมันจะย้อยลงมาไม่ถึงเรา จะต้องวิ่งเข้าหา จุดที่บอลจะตก ต้องคะเนให้ตกลงมาด้านหน้าของเรา ตาจับจ้องอยู่ที่ลูกบอลตลอดเวลา พร้อมกับ หงายฝ่ามือขึ้น ทำมือทั้งสองเป็นกระพุ้งคล้ายรูปถ้วย นิ้วมือข้างมีถุงชี้ออกจากตัวไปข้างหน้า ส่วนมือ ข้างไม่มีถุงจะอ้าออก หันนิ้วมือขึ้นข้างบน และฝ่ามือออกข้างนอก ขณะที่บอลตกลงมาสู่ถุงมือ ให้รีบใช้มือ ข้างไม่สวมถุงตะครุบบอลไว้ แล้วจับขึ้นมาถืออยู่ในท่าเตรียมพร้อม ที่จะส่งไปยังจุดที่ต้องการ

การรับลูกบอลเหนือศีรษะ

บอลที่ส่ง หรือถูกตีพุ่งมาเหนือศีรษะ ซึ่งบางครั้ง จะต้องกระโดดรับ ตาต้องจับที่บอล พร้อมกับวิ่งเข้าหาทิศทางที่บอลพุ่งมา ให้ชูมือทั้งสองขึ้นเหนือศีรษะ หันฝ่ามือเข้า ดักลูกบอล เมื่อลูกบอลพุ่งเข้าถุงมือ ให้ใช้มือข้างที่ไม่มีถุงประคอง และดึงลงมาทันที บางครั้ง ถ้าบอล พุ่งมาสูง จะต้องใช้การกระโดดผสมการรับด้วย

การรับบอลที่พุ่งมาหาทางด้านข้าง สำหรับผู้สวมถุงมือซ้ายเพราะถนัดขวา

บอลมาทางซ้าย

ให้ทิ้งน้ำหนักตัวไปทางซ้าย ก้าวเท้าซ้ายออกและเอียงตัวไปทางซ้าย พร้อมกับ เหยียดแขนทั้งสอง ออกไปสกัดลูกบอล มือขวาอยู่บนมือซ้าย ซึ่งสวมถุงอยู่ข้างล่าง หันฝ่ามือไปทางลูกบอล เมื่อลูกบอลพุ่งเข้าหามือที่มีถุง ให้รีบใช้มือขวาเข้าประกบลูกบอลทันที พร้อมกับดึงเข้าหาตัว และจับลูกบอล ด้วยมือขวา เพื่อเตรียมที่จะขว้างไปสู่จุดหมายได้ทันที

บอลมาทางขวา

ให้ทิ้งน้ำหนักตัวไปทางขวา ก้าวเท้าขวาออกและเอียงตัวไปทางขวา พร้อมทั้งเหยียดแขน ทั้งสองออกไปสกัดลูกบอล มือขวาอยู่ล่าง ส่วนมือซ้ายที่สวมถุงอยู่ข้างบนหันฝ่ามือไปทางลูกบอล เมื่อลูกบอลพุ่งเข้าหามือซ้ายที่มีถุง ให้รีบใช้มือขวา เข้าประกบลูกบอลทันที พร้อมกับดึงเข้าหาลำตัว และจับบอลด้วยมือขวา เตรียมพร้อมที่จะขว้างไปสู่จุดหมายได้ทันที

การรับลูกบอลที่กลิ้งมากับพื้น

บอลที่กลิ้งมากับพื้น หรือกระทบพื้น แล้วกระดอนขึ้นมาเป็นช่วง ๆ ประการแรก คือ ต้องมองจ้องอยู่ที่ลูกบอล และวิ่งเข้าดักทิศทางของลูกบอลทันที ถ้าลูกบอลกระดอน ให้แยกเท้าก้มตัวลง เท้าหนึ่งอยู่ข้างหน้า มือซ้ายซึ่งสวมถุงหงายฝ่ามือออกไปข้างหน้า หันปลายนิ้วลงสู่พื้น ส่วนมือขวาอยู่ข้างบนส้นมืออยู่ใกล้กัน คว่ำฝ่ามือลงเปิดปลายนิ้วขึ้น เพื่อเป็นช่วงให้ลูกบอลเข้าสู่ถุงมือ เมื่อลูกบอลเข้าสู่ถุงมือแล้ว ก็ประกบด้วยมือขวาพร้อมกับจับไว้ พร้อมที่จะส่งต่อไปได้ แต่ถ้าบอลกลิ้งเรียบ มากับพื้น ให้ย่อตัวมาก ๆ คุกเข่าลงข้างหนึ่ง ส่วนมือคงปฏิบัติเช่นเดียวกับบอลกระดอน

ข้อแนะนำการฝึกหัด

1). แขนและมือ จะต้องไม่เกร็ง มักมีบ่อยครั้ง ที่ลูกบอลกระดอนหลุดจากมือ อย่างน่าเสียดาย เนื่องจาก เกร็งข้อมือ และแขนขณะ รับลูกบอล

2). ต้องวิ่งเข้าสกัดทิศทางของลูกบอล โดยมิชักช้า

3). เมื่อรับลูกได้แล้ว ให้จับลูกบอล ด้วยมือที่จะขว้างทันที

4). ผู้ฝึกหัดใหม่ลูกที่รับง่าย ก็คือ ลูกที่กระดอนขึ้นจากพื้นเป็นครั้งแรก และเริ่มจะย้อยลงสู่พื้น เป็น ครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม ถ้าสามารถจะรับได้ทัน โดยที่ลูกบอลนั้นไม่ตกกระทบพื้นเลยนั้น นับว่าเป็น สิ่งพึงกระทำ มากกว่า

5). ผู้รับลูกบอลกระดอน ที่มีความชำนาญสูง อาจรับลูกพร้อมได้ทันที การฝึกหัดรับบอลแบบนี้ ค่อนข้างยาก แต่มีข้อได้เปรียบ ถ้าทำได้ เพราะป้องกันลูกบอลที่กระดอนขึ้นแล้วอาจเปลี่ยนทิศทาง

ลำดับการสอน

1). อธิบาย และ สาธิตลักษณะและวิธีการรับ เมื่อลูกลอยมาเหนือระดับเอว ต่ำกว่าเอว และลูก กระทบพื้น

2). ให้ผู้ฝึกซ้อมปฏิบัติ และผู้สอน ตรวจดูความถูกต้อง โดยเริ่มต้นจาก การแสดงมือเปล่าก่อน แล้วจึง ใช้ลูกบอลภายหลัง

3). ให้ทดลองปฏิบัติการรับบอล ที่มาต่ำกว่าระดับเอว ด้วยมือเปล่าก่อน แล้วจึงให้รับบอลจริง

4). หัดรับลูกลอย (fly) และลูกกลิ้งมากับพื้นในลักษณะต่าง ๆ

5). หัดให้รับลูกที่ส่งมาหาทาง ซ้าย - ขวา สูงและต่ำ