การขว้างลูกบอลซอฟบอล

การขว้างลูกบอลมีอยู่หลายแบบ ขึ้นอยู่กับโอกาสที่จะใช้ว่า สถานการณ์ใด ควรจะใช้วิธีขว้างแบบใด ความมุ่งหมายก็เพื่อความรวดเร็วและแม่นยำ และผู้รับลูกได้ง่ายที่สุด ตลอดจนท่าทางขณะจับบอล และระยะทาง ที่จะต้อง ขว้างไปสู่เป้าหมาย เช่น เมื่อกองหลังรับลูกได้จากการตี ต้องรีบส่งขึ้นมา ให้กองหน้าทันที ซึ่งมักจะส่งแบบการขว้างลูกเหนือไหล่ หรือ overhand throw ถ้ารับลูกกระดอนได้ ก็มักจะส่งแบบขว้างมือล่าง หรือ underhand whip throw หรือขว้างมือข้างที่เรียกว่า sidearm throw กองหลังส่วนมาก ใช้ขว้างแบบ เหนือไหล่ ส่วนกองหน้ามักใช้แบบขว้างมือข้างหรือขว้างมือล่าง

การส่งลูกบอลในระยะใกล้ๆ ก็อาจใช้วิธีโยนให้กันก็ได้ เช่น Pitcher เก็บบอลจากบริเวณที่ทำการโยนนั้น แล้วโยนส่งให้ผู้เล่นที่กำลังคอยรับอยู่บน เบสที่ 1 ที่ 2 หรือที่ 3 หรือแม้กระทั่งโยนให้ Shortstop หรือ ผู้เล่นอื่นใดก็ตาม ที่ต้องการจะส่งให้กันภายในรัศมีไม่เกิน 11 เมตร

การขว้างลูกบอลเหนือไหล่ (Overhand throw)

การจับ

ควรจับแบบทำนิ้ว เป็นรูปสามขา นิ้วชี้และนิ้วกลางอยู่ด้านบน แยกจากกันเล็กน้อย นิ้วหัวแม่มือ อยู่ใต้ลูก ซึ่งเท่ากับอยู่ตรงกันข้ามกับ นิ้วชี้และนิ้วกลาง ลูกบอลจะถูกรัดไว้ ด้วยนิ้วทั้งสามดังกล่าวนี้ โดยไม่ลงไปถึงอุ้งมือ ส่วนนิ้วนางและนิ้วก้อให้งอพันหลวม ๆ และกดอยู่ข้างลูก

การเตรียมขว้าง

ยกบอลขึ้นราวระดับหู เงื้อออกไปด้านหลัง งอศอกอยู่ระดับไหล่คนที่ขว้าง ด้วยมือขวา ให้ก้าวเท้าซ้ายนำไปข้างหน้า พร้อมกับเหยียดแขนซ้าย ไปสู่ทิศทางที่จะขว้างไป น้ำหนักตัวค่อน มาทางขาขวาเล็กน้อย บิดตัวไปทางขวาตามลักษณะของการง้าง ในจังหวะนี้เอง ก็อยู่ในสภาพพร้อม ที่จะขว้างลูก ต่อไปได้ทันที

การใช้แรงส่ง

การขว้างกระทำโดยการ กระตุกศอกมาข้างหน้า แล้วเหยียดไปข้างหน้าชิดไหล่ และเอว ตามมา พร้อมกับถ่ายน้ำหนักตัวไปหาเท้าหน้า ข้อมือนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ขณะปล่อยลูกบอล จะต้อง ได้แรงส่งจากการตวัดข้อมือลง พร้อมกับนิ้วมือเป็นสปริง จึงจะทำให้ลูกบอลพุ่งไปแรง ขณะที่กระตุก ศอกขวามาข้างหน้า เพื่อที่จะขว้างลูกนั้น แขนซ้ายจะลดระดับลง และเหวี่ยงศอก กลับไปข้างหลัง หลังจาก ปล่อยบอลไปแล้ว แขนยังคงเหวี่ยงลงอีกเล็กน้อย เป็นการผ่อนตามแรงส่ง ในลักษณะตัดเฉียงลำตัว ตามองตามลูกบอล ที่กำลังพุ่งเข้าสู่เป้าหมาย

โอกาสที่ใช้

1) กองหลัง ใช้บ่อยที่สุด เพราะต้องส่งลูกในระยะไกล

2) กองหน้า ใช้ขว้างตัดทแยงมุม เบสที่ 1 - 3 หรือ home ไปสู่เบสที่ 2 เป็นต้น

3) ทั้งกองหน้าและกองหลัง ที่ต้องส่งบอลในระยะไกล ทุกโอกาส

4) สำหรับผู้เล่นที่ไม่ถนัดการขว้างลูกบอลแบบอื่น ๆ ก็ควรใช้แบบนี้

ข้อแนะนำการฝึกหัด

การฝึกหัดต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

1. การเพิ่มความเร็วของการขว้าง ต้องเคลื่อนไหวให้เร็ว โดยเฉพาะส่วนของร่างกาย ที่ส่งเสริมการทำงาน ของแขน กระทำโดย

ก ) ข้อเท้าปล่อยฟรี ไม่เกร็ง ส่งเข่าและตะโพก โดยการโล้ และเหยียดตามไป

ข ) เพิ่มการเหวี่ยงแขนไปข้างหลัง ง้างให้กว้างออก ถ่ายน้ำหนักตัวไปสู่เท้าหลัง ยกเท้าหน้าขึ้นจากพื้น เล็กน้อย

ค ) การปรับปรุงความแม่นยำ อาจฝึกหัดได้หลายวิธี เช่น การขว้างใส่เป้า หรือขว้างให้ผู้รับ ที่กำลังยืนรับอยู่บน เบส เป็นต้น ข้อสำคัญที่จะทำให้การขว้างมีความแม่นยำก็คือ ขณะที่ตวัดลูกบอลผ่านไหล่มาข้างหน้านั้น จะต้อง ให้มีส่วนโค้งน้อยที่สุด

2. การปฏิบัติต่อไปนี้จะช่วยให้เกิดความแม่นยำได้ คือ

ก ) ตามองจ้องอยู่ที่เป้า

ข ) ทุกส่วนของร่างกายปล่อยฟรี ไม่เกร็ง

ค ) ก้าวเท้าซ้ายนำไปหาทิศทางที่จะขว้าง

ง ) กดไหล่ข้างที่มือขว้างให้ต่ำลงเล็กน้อย

3. การขว้างแบบไม่ใช้การบิดไหล่ และลำตัวช่วย มักขว้างได้ไม่ไกล และข้อศอกอาจอักเสบได้ง่ายด้วย

4. ขจัดความเครียดของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ไม่เฉพาะที่แขนหรือไหล่เท่านั้น

5. ผู้ฝึกหัดขว้างบอลใหม่ ๆ ส่วนมาก มักแนบข้อศอกติดข้างลำตัว ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด ที่ถูกต้องนั้น จะต้อง กางศอก พร้อมกันง้างไป ข้างหลัง

ลำดับการสอน

- อธิบายและสาธิตวิธีสอนที่ถูกต้องทั้งแขน

- ย้ำเรื่องการเหวี่ยงแขนที่ถูกต้อง ผ่อนสบาย ไม่เกร็ง ไม่มีท่าทางมากโดยไม่จำเป็น

- ฝึกหัดการขว้างและรับลูกบอล แล้วขว้างเข้าสู่เป้าที่กำหนดให้ทันที

- เพิ่มระยะทางไกลยิ่งขึ้น

- กำหนดเวลาให้ โดยนับจำนวนครั้งของการขว้างที่มากที่สุด

- ฝึกหัดการวิ่งเข้ารับและขว้างเข้าสู่เป้าที่กำหนดให้