ประวัติความเป็นมาของ ยูโด Judo 3

ปัจจุบันสถานฝึกยูโดโคโดกันนี้ ได้สร้างขึ้นใหม่ให้ทันสมัย และใหญ่กว่าเก่าเป็นอันมาก โดยอยู่ใกล้กับ สถานที่เดิม นั่นเอง มีผู้นิยมไปฝึกกัน วันละนับเป็นพัน ๆ คน รวมทั้งชนชาวญี่ปุ่นเอง และชาวต่างประเทศ ที่สนใจยูโด ทั้งนี้ สถานฝึกโคโดกัน ยังได้จัดที่พักสำรองไว้ สำหรับชาวต่างประเทศ ที่ไม่มีที่พักอีกด้วย

เกี่ยวกับประวัติของยูโดนี้ นอกจากหลักฐานดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกกระแสหนึ่งคือ ท่านจิโกโร-คาโน ศาสตราจารย์กิติมศักดิ์ และนายกคนแรกของมหาวิทยาลัยฝึกหัดครูชั้นสูง สมาชิกสภาขุนนางของญี่ปุ่น และนายกสถานโคโดกัน กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดวิชายูโด ได้ปาฐกถา ณ มหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนียใต้ ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ครั้งที่ 11 เมื่อปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ว่า

"ในสมัยหนึ่ง ชนชาติญี่ปุ่น ได้นิยมการออกกำลังแบบทหาร หลายวิธี เช่น ฟันดาบ ยิงธนู แทง ด้วยหอก และ อื่น ๆ นอกจากการออกกำลัง โดยใช้อาวุธดังกล่าวแล้ว ยังได้นิยมการออกกำลัง โดยวิธี ชก เตะ ยกทุ่ม จับรัดคอ หักแขน หักขา ตลอดจน การป้องกันการต่อสู้ป้องกันของศัตรู ด้วยอาวุธสั้น อีกด้วย ซึ่งเรียกวิชานี้ว่า ยูยิตสู การฝึกหัดสั่งสอนแบบดังกล่าวนี้ ได้ทำกันแพร่หลาย มาแต่โบราณกาล แต่การสอน ที่ปรับปรุงเป็นหมวดหมู่ เรียบร้อยนั้น เพิ่งมีขึ้นเมื่อประมาณ 300 ปีมานี้เอง"

และในกาลต่อมา ท่านศาสตราจารย์จิโกโรคา ในผู้นี้เองเป็นผู้พัฒนาการยูยิตสู ให้เจริญขึ้น และขนานนาม เสียใหม่ว่า ยูโด ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นประวัติของวิชานี้อีกประการหนึ่ง

เรื่องประวัติของยูโดนี้ ครั้งหลังสุด เมื่อปี ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2499) หนังสือพิมพ์ในประเทศญี่ปุ่นชื่อ อาซาฮิชิมบุน (The Asahi Shimbun) ได้จัดสร้างภาพยนตร์ ขนาด 16 มม. เกี่ยวกับยูโด ให้ชื่อภาพยนตร์เรื่องนั้น ว่า Master of Judo การโฆษณา คุณสมบัติของภาพยนตร์เรื่องนี้ มีข้อความ แสดงถึงประวัติของยูโดไว้ ดังนี้

ยูโด ในสมัยนี้เป็นที่รู้จักกันแทบทั่วโลก และมีผู้นิยมสนใจกับศิลปของวิชานี้ นับด้วยเรือนล้านแล้ว แต่ถึงกระนั้น เรื่องความเป็นมาอันแท้จริง ตลอดจนหลักเกณฑ์อันถูกต้องนั้น ยังไม่มีนักประวัติศาสตร์ คนใดพิสูจน์ได้ นักค้นคว้าเรื่องราววิชานี้ยืนยันว่า ยูโดนี้อุบัติขึ้นในโบราณกาล ประมาณกว่า 2,000 ปี มาแล้ว และมีการพัฒนาการสืบเนื่องมาจากยูยิตสู ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมาก่อนแล้ว นับได้ด้วยศตวรรษ โดยมีชื่อเรียกกัน แปลก ๆ ตั้ง 12 ชื่อ

ส่วนยูโดในสมัยนี้นั้น เกิดขึ้นจาก ท่านศาสตราจารย์จิโกโรคาโน โดยในศตวรรษที่ 19 ท่านได้พิจารณา ยูยิตสู ที่ฝึกสอนอยู่ตามโรงเรียนต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการสอนแตกต่างกัน หลายอย่างหลายวิธี ท่านจึงนำมารวบรวม ให้เข้ากับหลักวิชาอันทันสมัย ได้แก่ วิทยาศาสตร์ และจริยศึกษา เป็นต้น จนกระทั่ง ในปี ค.ศ. 1882 (พ.ศ. 2425) ได้จัดสร้างโคโดกันขึ้น เป็นสถาบันสำหรับวิชานี้ โดยเฉพาะยูยิตสู เมื่อก่อนสร้างโคโดกันนั้น มีวิธีการสับสนอยู่มาก มีโรงเรียนฝึกสอนตั้ง 20 แห่ง ซึ่งต่างฝ่ายต่าง วางหลักเกณฑ์ ของตนขึ้นมาเอง เนื่องจากหลายศตวรรษมาแล้ว ถือกันว่า ยูยิตสูนั้น เป็นศิลปในการต่อสู้ ตามลัทธิ บูชิโด ที่เรียกว่า ซามูไร ครั้นต่อมา ประเทศญี่ปุ่นมีความเจริญขึ้น มีการปรับปรุง สิ่งไม่เหมาะสมให้หมดไป พวกซามูไรซึ่งมีอำนาจแต่โบราณ ได้ถูกริดรอนอำนาจ อาทิ เช่น ห้ามมิให้สะพายดาบ และกวดขันให้แสวงหาสันติสุข สมัยนั้น ท่านจิโกโรคาโน กำลังรุ่นหนุ่ม เพิ่งสำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยอิมพิเรียล แห่งโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ได้สนใจ และพยายามปรับปรุง ยูยิตสูให้ทันสมัย และอาศัยวิทยาศาสตร์ และจริยศึกษา เป็นมูลฐาน แต่กว่าจะเป็นผลสำเร็จ ต้องฝ่าฟัน การโต้แย้งขัดขวาง ของพวกนิยมประเพณีเดิมเป็นอย่างยิ่ง

จนต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1886 (พ.ศ. 2429) ตำรวจนครบาลแห่งโตเกียว ได้จัดให้มีการแข่งขัน ระหว่าง นักยูโดของโคโดกัน และนักยูยิตสูของสำนักต่าง ๆ ขึ้น ผลการแข่งขันครั้งนั้นปรากฎว่า ในการแข่งขัน จำนวน 15 ครั้ง นักยูโดของสำนักโคโดกัน มีชัยชนะถึง 13 ครั้ง นับแต่นั้นมา จึงเป็นที่รับรองกันโดยทั่วไปว่า ยูโดของโคโดกันนั้น มีประสิทธิภาพมากกว่ายูยิตสู ของสำนักอื่น ๆ ยูโดจึงเป็นศิลป ที่แพร่หลาย ไปยังต่างประเทศอย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้เกือบจะทั่วโลกแล้ว

เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความนิยมของศิลปยูโดได้ทวียิ่งขึ้นเป็นลำดับ และในปี ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2485) ความเจริญของยูโด ได้เจริญก้าวหน้าต่อไปอีก โดยได้จัดตั้งสหพันธ์ยูโด Judo Federation เป็นจำนวน 18 ชาติ โดยมีอังกฤษ. ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา และเยอรมัน รวมอยู่ด้วย

ต่อมาในปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) สหพันธ์ยูโดระหว่างชาติ ได้จัดให้มีการแข่งขัน เพื่อความชนะเลิศ ยูโดระหว่างชาติขึ้น การแข่งขันครั้งนี้ อยู่ในความอำนวยการของ สหพันธ์ยูโดระหว่างชาติ กับโคโดกัน และ หนังสือพิมพ์ อาซาฮิซิมบุน

บรรดานักยูโดที่สามารถที่สุด มีชื่อถึงปัจจุบันนี้คือ กิอุโซ มิฟูเน่ แม้ว่าท่านผู้นี้จะมีอายุถึง 73 ปี และกอปร์ทั้งมีรูปร่างแบบบาง มีส่วนสูเพียง 5 ฟิต 2 ½ นิ้ว และน้ำหนัก 110 ปอนด์ แต่ยังเจริญรอย รักษาศิลปของวิชายูโด ตามทัศนะของท่านจิโกโรคาโน ตลอดมา ท่านมิฟูเน ยังคงฝึกฝนยูโดประจำวัน ร่วมกันกับนักยูโดชั้นสูง ๆ และคอยควบคุม ให้คำแนะนำ อันถูกต้องอยู่เป็นประจำ ตลอดชีวิตของท่านมิฟูเน่ ได้ศึกษาถึงมูลฐานของวิชายูโด และพยายามอย่างยิ่ง ที่จะให้เป็นศิลปอันสมบูรณ์แบบ บัดนี้ท่านเป็นผู้หนึ่ง ที่พบความจริงในหลักการของยูโด ยูโดของท่านมิฟูเน่ เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจในวิชายูโด ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต บริษัทอาซาฮีซิมบุน จึงจัดสร้างภาพยนตร์เรื่อง Master of Judo ขึ้นในปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) แสดงถึงหลักการของยูโดถึง 70 อย่าง โดยมีท่านมิฟูเน่ และนักยูโดชั้นสูง แสดงร่วมอยู่ด้วยกัน จำนวนมาก ซึ่งภาพยนตร์นี้ยาว 34,000 ฟิต ใช้ความเร็วเป็นมาตรฐาน ประกอบด้วยการเคลื่อนไหวอย่างช้า (Slow-motion) เพื่อให้เห็นการแสดงได้อย่างชัดเจนประกอบอีกด้วย เรื่องนี้นับว่าเป็นประวัติ ของวิชายูโด อีกอย่างหนึ่ง จึงขอนำมาแสดงไว้ เพื่อประกอบความรู้เกี่ยวกับประวัติของยูโด อีกส่วนหนึ่ง

ประวัติยูโดอีกกระแสหนึ่ง กล่าวว่า ชาวจีนผู้หนึ่งชื่อ ชิน เกมพิน หรือ ชวนว่วน แห่งราชวงศ์หมิง ซึ่งได้แปลงชาติ มาอยู่ในบังคับของญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1659 และได้ถึงแก่กรรมลง ณ วัดโคคูโชจิ ตำบล อะซาบู ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ที่นำวิชายูยิตสู เข้ามาเผยแพร่ในประเทศญี่ปุ่น เป็นคนแรก แต่เมื่อได้ค้นคว้า กันให้ประจักษ์แจ้ง ปรากฎว่าศิลปวิชานี้ ได้เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นมาก่อนแล้ว โดยชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งชื่อ ฮิซาไมริ ตาเคโนอูชิ หาได้เป็นอย่างที่สันนิษฐานกันไม่ ทั้งยังปรากฎหลักฐาน เกี่ยวกับศิลปวิชานี้ ได้ถูกพิมพ์ขึ้นแต่ปี ค.ศ. 1647 ก่อนที่ ชิน เกมพิน ย่างเหยียบเข้าสู่ดินแดนญี่ปุ่นถึง 12 ปี และ สมัยต่อมา ก็ได้สถานฝึกหัด ศิลปวิชานี้ขึ้น อีกหลายสำนัก เช่น ตาคิโนอูชิ โยชิน คิตโต และโคโดกัน ฯลฯ

สำหรับประวัติส่วนตัว ของท่านศาสตราจารย์ จิโกโร คาโน ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดยูโดสมัยใหม่ ท่านเป็นผู้ ที่มีชื่อเสียง โด่งดัง จนเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ได้เคยผ่านงานสำคัญ ๆ ของชาติมามาก เช่น เคยเป็น ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ และนายกคนแรกของมหาวิทยาลัยฝึกหัดครูชั้นสูง เคยเป็นสมาชิกสภาขุนนาง ของญี่ปุ่น เป็นนายกสถานฝึกหัดโคโดกัน เป็นนายกกิติมศักดิ์ของสมาคมกีฬาสมัครเล่น ท่านผู้นี้ทำงาน เกี่ยวกับการศึกษาของชาติมาเป็นเวลานานถึง 24 ปีเศษ ศาสตราจารย์จิโกโร คาโน ผู้นี้เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1860 ณ ตำบลมิดาเก จังหวัดเทนซี ปกติเ ป็นผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอแบบบาง แต่ด้วยมีนิสัยรักการศึกษา และชอบในศิลปวิชายูยิตสูมาก เมื่อจบการศึกษาเป็นอักษรศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอิมพิเรียล ณ กรุงโตเกียวแล้ว จึงได้หันเข้าศึกษาวิชายูยิตสูหลายสำนัก จากผู้สามารถ 3 คน คือ นายฟุกุดะฮาจิ ในสุเกะ อาจารย์อิโสะเซอิยิ และอาจารย์อิกุโยะ จากการเป็นคนอ่อนแอ ทำให้ศาสตราจารย์ จิโกโร คาโน เป็นคนที่แข็งแร็ง วิชานี้ได้ให้แสงสว่างแก่ท่านมาก ถึงกับสนใจค้นคว้าต่อไป ในปี 1882 ท่านได้ตั้งโรงเรียน ขึ้นแห่งหนึ่งเรียกว่า โคโดกัน มีความหมายคือ "โรงเรียนที่ศึกษาทาง" ทาง ในที่นี้หมายถึง ทางก้าวหน้าในชีวิต และท่านได้ใช้เวลาว่าง สอนยูโดแก่บรรดานักเรียน และคนรู้จัก ณ ศาลา ในบริเวณ วัดเออิโซ ตำบลซิตายา กิจการได้เจริญขึ้นเรื่อย จนต้องย้ายมาเปิดที่ตำบล คอยชิคาวา มีเบาะ 600 เบาะ มีผู้ไปเรียนทั้งชายและหญิง ท่านศาสตราจารย์จิโกโร คาโน ได้ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1939 ที่สิงคโปร์ ศพได้ถูกนำไปประดิษฐาน ณ สถานโคโดกัน เพื่อให้สานุศิษย์ได้เคารพตามประเพณี ผู้ที่รับช่วงต่อมาคือ นายพลตรีนันโง ยิโร ผู้เป็นหลาน เป็นผู้ดูแลสถานโคโดกันสืบต่อมา