ประวัติความเป็นมาของ ยูโด Judo 2

อนึ่ง ผู้เรียบเรียงประวัติของวิชายูโดนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การบริหารกายและจิตใจ ซึ่งขนานนามว่า ยูโด นี้สถานโคโดกัน เป็นแหล่งปรับปรุงขึ้น ดังนั้น ควรเรียกวิชานี้ว่า โคโดกันยูโด จึงจะเป็นการถูกต้อง ทั้งนี้ เป็นเครื่องยืนยันว่า ยูโดนี้ สืบเนื่องจาก วิชาซูโม่ และยูยิตสู ประการหนึ่ง

ประวัติของวิชายูโดนี้ อีกประการหนึ่ง จากหนังสือยูโด ซึ่งศาสตราจารย์ โอทาทิกาคาโอะ เกียรตินิยม ในวิชายูโด สายดำชั้น 8 HACHI DAN ผู้ช่วยคณาจารย์ แห่งมหาวิทยาลัยกรุงโตเกียว เรียบเรียงขึ้นใน พ.ศ. 2498 กล่าวถึงประวัติของวิชายูโดไว้ ดังนี้

ยูโด ที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น รากฐานเนื่องมาจาก ซูโม่ คือกีฬาที่คนสองคน ใช้กำลังเข้าต่อสู้กัน อันมีมา แต่โบราณกาล ประมาณ 2500 ปีมาแล้ว ตามประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นกล่าวว่า เมื่อครั้งที่ องค์บรรพบุรุษ แห่งจักรพรรดิญี่ปุ่น จะเริ่มเสด็จ เข้าครองเกาะญี่ปุ่น ได้มีการต่อสู้ ปราบปราม พวกที่อาศัย อยู่บนเกาะนี้แต่เดิม แต่พระองค์เป็นผู้ประกอบด้วยเมตตาธรรม และทรงนิยมการปราบปราม ด้วยมือเปล่า แทนการใช้อาวุธ ดังนั้น การปราบปรามชาวเกาะในสมัยนั้น จึงมีการปราบปรามจับกุมกันด้วยกำลัง โดยปราศจากอาวุธ ซึ่งสมัยนั้นนิยมเรียกกันว่า ซูโม่ เป็นต้น แต่วัตถุประสงค์ ของซูโม่ในสมัยนั้น เป็นการต่อสู้ และป้องกันตัว โดยชีวิตเป็นเดิมพัน หาได้มีความมุ่งหมาย เพียงแต่เป็นการกีฬาไม่ ลักษณะที่ เรียกกันว่าซูโม่นี้ ได้ถ่ายทอดสืบเนื่องกันแต่นั้นมาเป็นลำดับ

ต่อมาถึงยุคสงครามกลางเมือง ของญี่ปุ่น เนื่องจากผู้ครองนครต่าง ๆ มีการกระด้างกระเดื่อง ต่อองค์ จักรพรรดิ ประมุของชาติ ต่างซ่องสุมรี้พลเป็นกำลังของตน มีการฝึกวิธีการรบนานาชนิด ในบรรดา วิธีการรบนี้ นอกจากอาวุธ หอก ดาบ แล้ว ยังมีการฝึกวิธีต่อสู้ และป้องกันตัวด้วยมือเปล่า ซึ่งแปลว่า ยูยิตสู อีกด้วย โดยถือว่า วิธีนี้มีประโยชน์ในระยะประชิด หรือตลุมบอน เมื่อไม่สามารถ ใช้หอกดาบได้ถนัดแล้ว จะได้ใช้ยูยิตสู คือ เข้าต่อสู้ด้วยมือเปล่า หรือมีดสั้นต่อไป วิชายูยิตสูสมัยนั้น มีการฝึกกำลังใจ ให้เข้มแข็งด้วย เพราะถ้าเพลี่ยงพล้ำลง อาจหมายถึงชีวิต การฝึกยูยิตสูสมัยนั้นจึงทารุณมาก มีการเข้าปล้ำ จับทุ่ม เตะ ถีบ ทุบ ถอง ซ้ำเติม สุดแต่โอกาสจะอำนวย โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรม และความกรุณาปรานี สมัยนั้น ต่างมีอาจารย์ตั้งสถาน ฝึกอบรมวิชานี้ แพร่หลาย โดยต่างฝ่าย ต่างประดิษฐ์ คิดค้นท่าทาง กลวิธีขึ้นโดยอิสระ อาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้นมี อาทิเช่น ทาเกอุจิ, อารากิมุโซ, มิอุระ, ฟุกุโน, โอยาระ, เซกิกูจิ, ชิบูกาวา, โยซินริว, คิวซินริว, ไกซินริว, นิปปอนฮอนเดงมิอุระริว, อิกะริว และ โยชิโอกะริว เป็นต้น ยูยิตสูสมัยนั้น จึงนับว่ารุนแรง ไร้ศีลธรรมอยู่มาก แต่ก็นับว่าภาวะการณ์บังคับ ให้จำต้องเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นสมัยบ้านเมืองไม่สงบดังกล่าวแล้วข้างต้น

ต่อมาถึงสมัยโทกุนางา คือ ตระกูลโทกุนางา ปราบปราบการกระด้างกระเดื่องสงบราบคาบ และตั้งตนเป็น มหาอุปราช ปกครองประเทศญี่ปุ่นสำเร็จ สถานการณ์บ้านเมืองมีความสุข วิชาการรบซึ่งพวกซามูไร ได้รับ การศึกษาอบรมมา จึงต้องปรับปรุงใหม่ ให้เหมาะสมกับกาลสมัย คือนอกจากการรบแล้ว ต้องเรียนหนังสือ ศึกษาการปกครอง อบรมจิตใจให้มีศีลธรรมด้วย ยูยิตสู อันเป็นวิชาต่อสู้ป้องกันตัว อย่างหนึ่งในสมัยนั้น จึงมีการปรับปรุง จากไร้ศีลธรรม มาเป็นการป้องกัน ต่อสู้ด้วยกำลังกาย และกำลังใจ อันประกอบด้วย คุณธรรม จรรยามารยาทอันสุภาพ เรียบร้อย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นการเหมาะสม กับสภาพของวิชานี้ เรียกว่า ยูยิตสู คือ ศิลปแห่งความสุภาพยิ่งขึ้น และก็ยังมีอาจารย์ คณะต่าง ๆ ทำการฝึกสอนวิชานี้ สืบเนื่องกัน ตลอดมา แต่เป็นการต่างคนต่างทำ ไม่มีใครสามารถรวบรวม ให้เป็นกิจลักษณะ อันหนึ่งอันเดียวกัน

ต่อมา มีชนชาติญี่ปุ่นผู้หนึ่ง ที่สนใจใน วิชายูยิตสู มาก ได้เข้าฝึกอบรมอยู่กับ อาจารย์ฟุกุดะฮาจิโน-สุเกะ อาจารย์อิโสะเซอิยิ และอาจารย์อีกิกุโยะ ในที่สุดท่านผู้นี้ คือ จิโกโรคาโน เป็นนักศึกษา ในมหาวิทยาลัย โตเกียว (Tokyo Imperial University ) สำเร็จวิชาปรัชญา (Philosophy) เมื่อท่านอายุ 23 ปี ท่านเห็นว่า ยูยิตสู นี้นอกจากเป็นกีฬา ในอันที่จะบริหาร ร่างกายและจิตใจแล้ว ยังมีหลักแห่งปรัชญา (วิชาว่าด้วยหลัก แห่งความรู้ และความจริง) อีกด้วย ท่านจึงทุ่มเท วิริยะอุตสาหะอย่างแรงกล้า พยายามปรับปรุง วิธีการของ ยูยิตสูให้ดีขึ้น ตัดทอนสิ่งซึ่งไม่เหมาะสมออก จนในที่สุด ได้รวบรวมวิชายูยิตสู เข้าเป็นมาตรฐาน อันหนึ่ง อันเดียวกัน และจัดให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกแก่การศึกษา แล้วขนานนามวิชานี้ใหม่ว่า "ยูโด" แปลว่า ทาง หรือหลักแห่งความสุภาพ เมื่อประมาณ 87 ปี มานี้ และได้จัดตั้ง สถานที่สำหรับ ใช้ฝึกอบรมวิชานี้ ที่ศาลาในบริเวณ วัดเออิโซ อยู่ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก เมื่อ เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1882 (พ.ศ. 2425)

มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานแห่งสถานโคโดกัน ตั้งแต่เริ่มมาจนบัดนี้ รวม 3 ท่าน ประธานคนแรก คือ ศาสตราจารย์ จิโกโรคาโน, ประธานคนที่ 2 คือ นายนันโงยิโร (มียศเป็น พล.ร.ต. ของกองทัพญี่ปุ่น) และ ประธานคนที่ 3 คือ นายริเซอิคาโน ท่านผู้นี้เป็นบุตรของศาสตราจารย์ จิโกโร-คาโน

ส่วนสถานโคโดกัน คือที่ฝึกสอน วิชายูโด และฟันดาบ นั้น ครั้งแรกตั้งอยู่ที่ วัดเออิโซ ดังกล่าวแล้วครั้น ค.ศ. 1893 (พ.ศ. 2436) ย้ายมาตั้งอยู่ที่ ซิโมโทมิกาซา

ต่อมาใน ค.ศ. 1933 (พ.ศ. 2476) ย้ายจากชิโมโทมิกาซา มาตั้งอยู่ที่ถนน ซุยโดมัดซี ในกรุงโตเกียว ทั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า วิชายูโดนั้น มีความสัมพันธ์สืบเนื่องจาก วิชายูยิตสูและซูโม่ อีกประการหนึ่ง

prevnext